xs
xsm
sm
md
lg

'สยามพิวรรธน์' ปักธงศูนย์การค้าแห่งแรกในไทยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ปี 2030 พัฒนาย่านปทุมวัน ผนึกพันธมิตรก้าวสู่ Net Zero 2050

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'สยามพิวรรธน์' ปักธงศูนย์การค้าแห่งแรกในไทยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ปี 2030 พัฒนาย่านปทุมวัน ผนึกพันธมิตรก้าวสู่ Net Zero 2050

เป็นการตอกย้ำอีกครั้ง สำหรับ “สยามพิวรรธน์” ที่ประกาศจุดหมายปลายทางระดับโลกสู่ความยั่งยืน จะเป็น “Net Positive Impact” ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 พร้อมพัฒนาธุรกิจที่เอื้ออำนวยให้ทุกส่วนในระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน นำร่องยกระดับชุมชนย่านปทุมวัน พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ สู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ

สยามพิวรรธน์ยังเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแบรนด์ดังและองค์กรชั้นนำระดับโลก มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติร่วมกันดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานในระดับสากล และเตรียมพร้อมประกาศลงนามความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับแบรนด์ดังระดับโลกในต้นปี 2024

พัฒนาย่านปทุมวันสู่เมืองอัจฉริยะ
น.ส.นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวในงานเสวนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองสู่ย่านปทุมวันต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ว่า สยามพิวรรธน์ ไม่ได้ทำแต่เรื่องธุรกิจ แต่จะร่วมพัฒนาเมือง ซึ่งพื้นที่ย่านปทุมวัน เป็นพื้นที่ของทุกคน และปัจจุบันนี้การแข่งขันทางธุรกิจมีมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น ตอนนี้เป็นโลกเดือดไม่ใช่โลกร้อน ซึ่งสยามพิวรรธน์ จะไม่นิ่งเฉย
“เราอาสาพัฒนาย่านปทุมวัน ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะเรามีองค์ความรู้ไม่มากพอ เราเป็นนักธุรกิจที่ทำเรื่องศูนย์การค้า เราจึงต้องไปร่วมมือกับคนที่ทำเรื่องการวางผังเมือง หรือคนที่มีความรู้มาทำงานร่วมกัน ซึ่งย่านปทุมวัน มีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ที่มีผู้เชี่ยวชาญและมีความชำนาญในการวางผังและออกแบบเมือง ถือเป็นความร่วมมือที่แข็งแรงที่จะนำไปสู่การศึกษา การออกแบบ ดังนั้น มั่นใจว่าสิ่งที่สยามพิวรรธน์ดำเนินการ ไม่ใช่เพียงเรื่องธุรกิจอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่พวกเราจะไม่ละเลย จะยึดมั่น และดูแลโลกใบนี้ต่อไป”

เชื่อมต่อย่านปทุมวันอย่างมียุทธศาสตร์
รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) กล่าวว่า เมืองเป็นเครื่องจักรในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ การพัฒนาเมืองจึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกับการพัฒนาในแต่ละย่าน ซึ่ง “ย่านปทุมวัน” เป็นเสมือนหัวใจของกรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทุกสมัย และเป็นย่านความคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดเศรษฐกิจเมืองมาโดยตลอด อีกทั้งเป็นย่านที่มีความหลากหลาย และเป็นแหล่งเรียนรู้ สามารถส่งเสริมนวัตกรรมที่สมบูรณ์


“สิ่งที่ควรทำ คือ การเชื่อมต่อศักยภาพทั้งหมดอย่างมียุทธศาสตร์ และเป็นเมืองที่เดินได้เดินดี ไปที่ไหนก็สามารถเดินได้ ซึ่งจุฬาฯเหมือนสยามพิวรรธน์ ที่ต้องการให้พื้นที่ย่านปทุมวันทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน ตามแผนจุฬาฯในศตวรรษที่ 2 นี้ จะมีการ “ปรับ-เปลี่ยน-เปิด ซึ่งผังระยะสั้น 5 ปี ไม่ได้มองเพียงพื้นที่เขตการศึกษา แต่มองถึงรอบๆ ตามยุทธศาสตร์หัวใจและขอบ อนาคตที่เชื่อมโยงผสานกัน จะดำเนินการด้วยคอนเซ็ปสมาร์ทซิตี้ทั้ง 7 ด้าน” รศ.ดร.นิรมล กล่าว

“สยามพิวรรธน์” ตั้งเป้า 100% Net Zero 2050
น.ส.นราทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ย่านสยาม หรือย่านปทุมวันต้องเป็นย่านอันดับหนึ่งของกรุงเทพฯ และเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสยามพิวรรธน์ เราขออาสา ซึ่งทางจุฬาฯ มีอาจารย์ มีองค์ความรู้มากมาย และเราจะมีการศึกษา กำหนดโรดแม็ป และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงย่านปทุมวัน ภายในปี 2567

“สยามพิวรรธน์ได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะเป็น Thailand’s First Net Zero Shopping Mall in 2050 ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่ได้ประกาศในเรื่องนี้ โดยการเป็น NET ZERO ของสยามพิวรรธน์มีแนวทางในการดำเนินการ และไม่ได้พึ่งเริ่มทำในวันนี้ แต่ทำมามากกว่า 60 ปี โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาการใช้พลังงานทั้งหมด เริ่มต้นจากการเป็น Global next Solutions มาตรฐานในการทำศูนย์การค้าทุกแห่งของสยามพิวรรธน์ จะเป็นมาตรฐานระดับโลก”

แน่นอนเมื่อเป็น “ศูนย์การค้าระดับโลก” ย่อมสร้างผลกระทบต่อโลก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น “สยามพิวรรธน์” พยายามให้เป็นผลกระทบเชิงบวกมากที่สุด มีความรับผิดชอบดูแลในสิ่งที่ทำ

น.ส.นราทิพย์ กล่าวอีกว่าการเริ่มต้นในแง่ของธุรกิจ สยามพิวรรธน์เป็น “World Class Shopping Mall” ประชาชนทั่วโลกมาที่ศูนย์การค้าสยามพิวรรธน์มากกว่า 80 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์การค้าเดียวที่มีผู้มาเยี่ยมมากสุด ส่วนเรื่องของผู้คน สยามพิวรรธน์เป็น Empower People อาทิ แบรนด์ “ECOTOPIA” หรือไอคอนคราฟ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ปลุกให้ชุมชน ผู้คน มีโอกาสมีเวทีนำเสนอศักยภาพของคนไทยก้าวสู่สากล

ด้านสิ่งแวดล้อม “สยามพิวรรธน์” มีการใช้พลังงาน แต่พยายามใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น การคัดแยกขยะ มูลนิธิขาเทียม ทำเรื่องของโรงงานเพื่อให้ขยะไม่ไปสู่กระบวนการฝังกลบมากเกินไป

สร้าง Ecosystem ธุรกิจพลังงานสะอาด
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสยามพิวรรธน์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ทิ้งใครในพื้นที่สยาม SCG ดำเนินธุรกิจแบบ ESG 4Plus เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ความโปร่งใส ได้แก่ 1. การมุ่ง Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเราพยายามใช้เทคโนโลยีมาใช้ 2. Go Green พัฒนาสินค้า หรือนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็น Low carbon หรือใช้พลังงานสะอาดมาแทนฟอสซิส ปัจจุบันใช้พลังงานทดแทนได้ 50% 3. Lean ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นใน Ecosystem และมีการพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชนที่บริษัทเราไปตั้งอยู่ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง 4. สร้างความร่วมมือ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับสยามพิวรรธน์ และ เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ในเครือ SCG ที่เน้นเรื่องพลังงานสะอาด มีความตั้งใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในระบบ Ecosystem ของธุรกิจ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ Net Zero

พัฒนาเทคโนโลยี- งบ สร้างพลังงานทดแทน
นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนและสายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสยามพิวรรธน์ได้ให้โอกาสพันธมิตรอย่าง บี.กริมมาช่วยพัฒนาสยามพิวรรธน์ให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในเรื่องของพลังงานสีเขียว หรือ NET ZERO ปี 2050 ซึ่งเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน เป็นปรัชญาของบี.กริม ที่อยู่คู่สังคมมาตลอด 145 ปี

ทั้งนี้ บี.กริม มองเรื่องการดำรงอยู่ตั้งแต่การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และการสร้างพลังงานทดแทนกว่า 4,000 เมกะวัตต์ และความร่วมมือกับพันธ์มิตรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหากโลกเดือนจะมีความลำบากต่อการดำรงชีวิต ต้องร่วมกัน ลดคาร์บอน และเพิ่มพลังงานทดแทนให้ได้มากกว่า 50% เพื่อนำไปสู่ในการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ เป็นภาพเดียวกับสยามพิวรรธน์ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพลังงานทดแทนเกิดขึ้นจากการติดตั้งโซลาร์ ไม่ว่าจะเป็น โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือพลังงานอื่นๆ อย่าง พลังงานลม เป็นต้น

“การพัฒนาเทคโนโลยี งบประมาณ เป็นเรื่องที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ร่วมกับสยามพิวรรธน์ในการสร้างพลังงานสีเขียวให้เกิดขึ้นของโครงการไอคอนสยาม ไปสู่เป้าหมายของการเป็น Net Zero ส่วนเรื่องประหยัดพลังงาน ต้องใช้ระบบ AI อัจฉริยะเข้ามาช่วย เพื่อให้ลดการใช้พลังงานได้จริง หรือเรื่องการใช้วัสดุต่างๆ ต้องคำนึงสุขภาพ เป็นภาพรวมที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ทำอย่างไรให้ความร่วมมือตอบโจทย์เพื่อให้ประเทศเป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป” นายนพเดช กล่าว

ทางออกคนไทยเข้าถึงพลังงานสะอาด
น.ส.นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุน และธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท กันกุลฯ มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสยามพิวรรธน์ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งโครงการนี้เป็นเสมือน Green Mount Zone ที่เป็นการส่งสัญญาณไปให้ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติที่มาสยามพิวรรธน์ และแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการในไทยจริงใจเรื่องนี้ มากในการทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและเติบโตอย่างยั่งยืน
“โครงการโซลาร์รูฟท็อป สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ ที่ได้ทำร่วมกับทางสยามพิวรรธน์จะอยู่ในพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟและช่วยประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม่ 1 แสนต้นต่อปี ซึ่งโครงการนี้อยากให้เป็นตัวอย่างที่สำคัญในการเข้าถึง พลังงานสะอาด ซึ่งวันนี้หลายคนอาจจะมองว่าการใช้พลังงานสะอาดต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือใช้รถEV แต่จริงๆ แล้วการที่เราเลือกเข้ามาใช้ชีวิต หรือมาช็อปปิ้งในศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์ที่มีการขับเคลื่อนในการใช้พลังงานสะอาด ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมพลังสีเขียวทางอ้อม และพลังเหล่านี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมหาศาล”

“การเข้าถึงพลังงานสะอาด คือ เงินในกระเป๋าลูกค้าต้องจับต้องพลังงานสะอาดได้ และรองรับการเติบโตของโลกในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจะก้าวถึงเป้าหมายพลังสะอาด หรือ Net Zero ได้ ต้องมีพลังงานสะอาดกว่า 50% แต่ตอนนี้ประเทศมีเพียง 14% ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน”

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกกำจัดถูกวิธีเพียง 10%
น.ส.สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขอบคุณทางสยามพิวรรธน์ที่ได้ให้โอกาสทางซินเน็คเข้ามาเป็นพันธมิตร และเล็งเห็นความสำคัญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี จริงๆ แล้วเมื่อพูดถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์มีเกือบ 5 แสนตัน หรือเทียบกับเครื่องบินลำใหญ่ 20 ลำ แต่ในจำนวนเหล่านั้นมีการกำจัดให้ถูกวิธีเพียง 10% และถ้าจำแนกออกมา เช่น มือถือ ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 1%

“ซินเน็คให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่กระบวนการของแต่ละแบรนด์ ซึ่งตอนนี้มีหลากหลายแบรนด์มือถือได้ให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรามีศูนย์บริการทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดอายุการใช้งานคุ้มค่ามากที่สุด ไม่เกิดขยะ สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไอทีมือถือ แต่ถ้าหมดอายุการใช้งานจริงๆ จะมีกระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ดังนั้น อยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมกันทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่ ซึ่งศูนย์การค้าในสยามพิวรรธน์ จะมีถังขยะเพื่อกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี”
โลกเดือด ทำเท่าที่ผ่านมาไม่เพียงพอ

“วันนี้โลกมันเดือด ทำเท่าที่ผ่านมาไม่เพียงพอ ตอนนี้สิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำ คือ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ศูนย์การค้าในเครือทั้งหมด สามารถผลิตพลังงานสะอาดเกือบ 5 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปสู่โลกเกือบ 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนั้น มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ นำเทคโนโลยีที่สามารถลดการใช้พลังงาน และเริ่มสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รณรงค์ให้คนใช้รถ EVมากขึ้น และมีเป้าหมายว่าทำให้ทุกคนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รู้คุณค่า บริหารจัดการได้ ในปี 2026 สยามพิวรรธน์ จะใช้พลังงานสะอาด ประมาณ 30% และปี 2030 เราจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100%” น.ส.นราทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

“สยามพิวรรธน์” ให้ความสำคัญและใส่ใจกับลูกค้าคู่ค้า และพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น เมื่อทำในเรื่องของธุรกิจระดับโลก ผลกระทบเชิงบวกจะยิ่งใหญ่และกว้างขวางมากขึ้น สยามพิวรรธน์มุ่งมั่นการทำ Business Impact ให้เกิดขึ้น และตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องของพลังงานทดแทนในปี 2030 ให้ได้ 100% ด้วยการมีพันธมิตรที่แข็งแรงและสนับสนุนสยามพิวรรธน์








กำลังโหลดความคิดเห็น