กรมแพทย์แผนไทยฯ แนะวิธีใช้สมุนไพร แก้ 4 โรคสุขภาพช่วงหน้าฝน ใช้ "เหง้าข่า" ทำเป็นทิงเจอร์ ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ ท้องเสียที่ไม่ได้ติดเชื้อ ใช้ยาเหลืองปิดสมุทร/ยาธาตุบรรจบ หากเป็นไข้เปลี่ยนฤดูกาล ใช้ยาจันทน์ลีลา ส่วนการกิน "เห็ดพิษ" ให้ใช้รางจืดช่วยแก้ แล้วรีบไป รพ.ทันที
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังมีฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพได้ คือ โรคน้ำกัดเท้า หากดูแลความสะอาดนิ้วเท้าและง่ามเท้าไม่ดี อาจก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้ ขอแนะนำสมุนไพร “เหง้าข่า” สรรพคุณช่วยรักษาอาการโรคน้ำกัดเท้า นำมาทำเป็นรูปแบบทิงเจอร์ไว้ใช้เองได้ คือ 1.นำเหง้าข่าแก่สดมาล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลก ใส่ลงในโหลแก้ว 2.เติมแอลกอฮอล์ล้างแผลพอท่วม 3.ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคน เช้า-เย็น 4.กรองเอาแต่น้ำ บรรจุลงในภาชนะ โดยใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เมื่อหายดีแล้วให้ทาต่อเนื่องไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้หายขาด
ส่วนอาการท้องเสีย ใช้ยาสมุนไพร "ยาเหลืองปิดสมุทร" หรือ "ยาธาตุบรรจบ" สรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ขณะที่อาการไข้เปลี่ยนฤดูกาล ใช้ยาจันทน์ลีลา เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ตาม รพ.รัฐทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงที่ฝนตก สภาพอากาศมักจะเย็นลง ควรรับประทานสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น พริกไทย กะเพรา ผักชี ขิง กระชาย และ หอมแดง เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิต้านทานในช่วงฤดูฝนมากขึ้น
อีกเรื่องที่น่าห่วง คือ การกิน “เห็ดพิษ” ซึ่งเห็ดนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย มีสรรพคุณทางยา ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทย เห็ดนับเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยแก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร มีงานวิจัยพบว่า เห็ดบางชนิด เช่น เห็ดหอม มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ภูมิปัญญาชาวบ้านการที่เราจะเข้าป่าหาเห็ดมารับประทาน ต้องหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดพิษ สังเกตง่ายๆ คือ เห็ดพิษส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้มูลสัตว์ รูปร่างคล้ายอานม้า มีสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดจะมีสีขาว มีปุ่มปม มีรูป ไม่เป็นครีบ มีปลอกหุ้มโคนหรือเมื่อดอกแก่ จะมีกลิ่นเอียน โดยเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดี เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงกขาว และ เห็ดขอน ปัจจุบันมีเห็ดรูปร่างแปลกๆ มาขายมากมาย หากไม่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือไม่ ก็ให้รับประทานเห็ดตามท้องตลาด หรือเห็ดที่รู้จักทั่วไปจะปลอดภัยกว่า
"หากบังเอิญกินเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการเป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว อาการแบบนี้ให้คิดไว้ก่อนเสมอว่า อาจได้รับพิษจากเห็ด ต้องรีบไป รพ.ทันที แต่หากอยู่ไกล รพ. และละแวกนั้นมีต้นรางจืด ให้รีบคั้นใบรางจืดสดประมาณ 7-10 ใบ กับน้ำสะอาด แล้วนำน้ำมาดื่ม และให้รีบไป รพ.ที่ใกล้ที่สุดทันที" นพ.ขวัญชัยกล่าว