xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-สสส. สานพลังหนุน อปท.-สภาเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ “พื้นที่แห่งโอกาส” ทั่วไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-สสส. สานพลังหนุน อปท.-สภาเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ “พื้นที่แห่งโอกาส” ทั่วไทย ต่อยอด 46 ตำบลตัวอย่างที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ปั้นพลเมืองรุ่นใหม่ให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21

ในงานมอบรางวัลเพื่อคนการศึกษาท้องถิ่น (Local Education Award 2023) นายพนมเทียน เส้งวั่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น น้อมนำพระบรมราโชบายของในหลวง รัชกาลที่ 10 เรื่องการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3. มีงานทำ มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้ 4. เป็นพลเมืองดี สถานศึกษาและสถานประกอบการ ส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี ปัจจุบันจะเห็นว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับความชื่นชม ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองเพิ่มขึ้น จนบางแห่งต้องแย่งกันจองคิวส่งบุตรหลานเข้าไปเรียน
“การมอบรางวัลเพื่อคนการศึกษาท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรในสังกัด อปท. ที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาท้องถิ่น ประกอบด้วยรางวัลโรงเรียนต้นแบบเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในสถานศึกษาสังกัด อปท. จำนวน 7 รางวัล รางวัล อปท. ต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน 46 รางวัล รางวัลเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติครูสอนเด็กด้อยโอกาส 25 รางวัล และรางวัลประกวดคลิปวิดีโอรำวงมาตรฐานประกอบเพลง "รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย" ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาระดับปฐมวัยสังกัด อปท. 20 รางวัล นับเป็นการมอบรางวัลครั้งแรกหลังจากมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ อปท. มีหน้าที่ในกิจการสภาเด็กและเยาวชน และเกิดการกำหนดให้เยาวชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับ อปท.อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายพนมเทียน กล่าว


น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การพัฒนาและส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เท่าทันต่อสถานการณ์โลกยุคใหม่ เป็นความท้าทายใหม่ของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ อปท. กลไกรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด แม้ อปท. มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่นขึ้น ตามกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติทั้งสิ้น 7,774 แห่ง แต่ในกฎหมายไม่ได้กำหนดแนวทาง หรือวิธีการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ส่งผลให้ท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลตำบล (ทต.) เทศบาลเมือง (ทม.) เทศบาลนคร (ทน.) ต้องการแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงตัวอย่าง หรือต้นแบบที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านเด็กเยาวชนให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

“สสส. เล็งเห็นโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากเยาวชนคนท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนให้เกิด “พื้นที่แห่งโอกาส” ให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพ มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการในกระบวนการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นและเรียนรู้ผ่านการลงมือทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นของตน ทำให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ทั้งการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีม และสื่อสารสร้างสรรค์ ช่วยลดปัญหาสุขภาวะทางจิต เกิดความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง โดย สสส. สนับสนุนมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคมให้เข้ามาร่วมทำงานสร้างเสริมศักยภาพบุคลากรท้องถิ่น เพื่อเพิ่มทักษะให้บุคลากรที่ต้องทำงานกับเด็กและเยาวชน ทั้งหลักสูตรออนไลน์ที่ www.coachforchange.co และออนไซด์ ทำให้การทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมให้เด็กมาร่วมงาน แต่เป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำและร่วมรับผิดชอบ ได้มีส่วนร่วมดูแลแก้ไขปัญหาในชุมชนพื้นที่ของตนเอง ซึ่งก็ได้รางวัลเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นห่วงทิศทางการทำงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่นในอนาคต เพราะการถ่ายโอนภารกิจมาสู่ อปท. ทั่วประเทศยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะส่งผลให้ อปท. ยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานสภาเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” น.ส.ณัฐยา กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น