ยุวชนอาสา จุดเปลี่ยนปรับระบบการศึกษาไทย มรภ.ลำปาง นำนักศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน ผลักดันเอกลักษณ์ล้านนาสู่การยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารโครงการยุวชนอาสา ลงพื้นที่โครงการยุวชนอาสา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลำปาง) ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมี รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มรภ.ลําปาง ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา นายกเทศมนตรีตำบลทาทุ่งหลวง ผู้แทนชุมชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา เป็นจุดเปลี่ยนของการปรับระบบการศึกษาไทย ในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่กับการเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กยุคใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในตำรา เปิดประสบการณ์ในการทำงานให้กับนิสิต นักศึกษา ที่สอดแทรกความรู้ไปพร้อมๆกัน เป็นการเรียนรู้ที่มีชุมชนพื้นที่เป็นเหมือนครู โดยมีคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นคนช่วยวางกรอบแนวทาง เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน ซึ่งหากทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ จะเป็นการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพและคุณภาพตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า มรภ.ลำปาง เป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ที่มีพื้นที่การบริการวิชาการในจังหวัดลำปางและลำพูน ซึ่งตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในพื้นที่การเรียนรู้ของนักศึกษา ซึ่งในพื้นที่มีช่างศิลป์ที่มีความชำนาญและมากประสบการณ์ อีกส่วนหนึ่งก็ได้นำสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยบูรณาการข้ามศาสตร์ ได้แก่ วิชาออกแบบนิเทศศิลป์/ออกแบบผลิตภัณฑ์ วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิชาชุมชนศึกษา เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไม้ รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ ตลอดจนเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของโครงการ มีความน่าสนใจ คือ การที่มีนักศึกษาได้นำทักษะและองค์ความรู้เหล่านี้ไปฝึกสอนในโรงเรียน เป็นการสร้างและขยายโอกาสต่อไปยังทุกระดับการศึกษา และหากมหาวิทยาลัยสามารถผลักดันการดำเนินงานไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จะเป็นการยกระดับศักยภาพของการเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้เดินทางลงพื้นที่ชุมชนงานไม้ตําบลทาทุ่งหลวง ณ บ้านไกรศร พระไม้แกะสลัก และร้านกิจเกษมแกะสลัก ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากงานบริการวิชาการโครงการยุวชนอาสา อีกทั้งยังได้ร่วมเวิร์คช็อปทำของที่ระลึกประเภทงานไม้ โดยใช้เทคนิคงานลงรักปิดทองอีกด้วย