บอร์ดควบคุมยาสูบฯ ไฟเขียวร่างกฎหมาย 3 ฉบับ พบ 2 ฉบับ เป็นการกำหนดให้ร้านค้าปลีกยาสูบ และเขตปลอดบุหรี่ ทั้งในมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน ต้องทำสื่อรณรงค์ลด ละ เลิก ยาสูบ อีกฉบับเป็นการให้อำนาจข้าราชการชำนาญการขึ้นไป มีอำนาจปรับเป็นพินัยอัตราโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 1 หมื่นบาท หากเกินต้องเป็นองค์คณะไม่น้อยกว่า 3 คน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า "บุหรี่" ถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่มอมเมาประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน การรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การบริโภคและการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ.ให้เป็นประธานนั้น มีการรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านติดตามประเมินฯ เกี่ยวกับผลการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) การดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเข้ารับการประเมินไปเมื่อวันที่ 12-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยหัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ และคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก โดยได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น การติดตามการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย การคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น
"ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำข้อเสนอแนะจากประเมินดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการยกระดับนโยบาย มาตรการ กฎหมายด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก พร้อมให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบในอนาคต และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการขับเคลื่อนกลไกรองรับการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบกรณีที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเพื่อนำไปสู่การมีรายได้ที่เหมาะสมต่อไป" นายสันติกล่าว
นายสันติกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ บริเวณสถานที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบบริเวณเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. ... และ 3.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพ ยกระดับนโยบายด้านสาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยให้ห่างไกลจากพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าเสพติดทำลายสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ บริเวณสถานที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... พบว่า มีข้อกำหนดเพื่อให้ผู้ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบแสดงสื่อการรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบตามที่ สธ.จัดทำขึ้น มีข้อความว่า "เลิกบุหรี่ เพื่อคนที่คุณรัก" บริเวณสถานที่ขายปลีกฯ มองเห็นได้ชัดเจนอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง โดยขอรับต้นแบบสื่อรณรงค์จากกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค สื่อรณรงค์มีขนาดไม่น้อยกว่า 7x21 เซนติเมตร ไม่ปรากฏภาพ ข้อความ สัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า หรืออื่นใด สื่อถึงตรา ชื่อรุ่นย่อยของผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือผู้ผลิตผู้นำเข้า ไม่บังคับกับร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาออกซึ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่ผู้ซื้อเฉพาะที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น กำหนดบังคับใช้ 270 วันนับแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบบริเวณเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. ... พบว่า สถานที่สาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่และบริเวณทั้งหมด แต่สามารถจัดให้มี “เขตสูบบุหรี่” เป็นการเฉพาะได้ในพื้นที่นอกอาคาร ได้แก่ 1. สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 2. สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และ 3. ท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการ (เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน หรือยานพาหนะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่) แสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิก บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้โดยเปิดเผยมองเห็นชัดเจน ให้เหมาะสมกับสภาพและลักษณะของเขตสูบบุหรี่ ในรูปแบบของข้อความ รูปภาพ โปสเตอร์ แผ่นป้าย วิดีทัศน์ หรือทำให้ปรากฏโดยวิธีอื่นใดอันสามารถสื่อสารได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนี้ 1.โทษ พิษภัย อันตราย หรือโรคที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.ประโยชน์จากการเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ อาจแสดงด้วยตัวอักษรภาษาไทยตามข้อความแบบหนึ่งแบบใดที่กรมควบคุมโรคกำหนด หรือตามข้อความต่อไปนี้ได้ ซึ่งมี 6 แบบ คือ
1.บุหรี่ทุกชนิดฆ่าคนตาย 2.บุหรี่ทุกชนิดทำให้เซ็กซ์เสื่อม 3.บุหรี่ทุกมวนทำร้ายคุณ 4.ควันบุหรี่ ฆ่าคุณให้ตายได้ 5.เลิกสูบ ลดเสี่ยงมะเร็งปอด และ 6.เลิกสูบ ลดเสี่ยงหัวใจวาย ต้นแบบสื่อรณรงค์สามารถดาวน์โหลดจากเว็บของกรมควบคุมโรค โดยสื่อให้มีขนาดไม่น้อยกว่า A4 ไม่ปรากฏภาพ ข้อความ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย หรืออื่นใด สื่อถึงตรา ชื่อรุ่นย่อย ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า สื่อที่ทำไว้ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้หากไม่ขัดแย้งกับประกาศ ให้ถือว่าเป็นสื่อรณรงค์ โดยมีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการขึ้นไปหรือเทียบเท่า เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยในอัตราโทษปรับสถานเดียว เฉพาะความผิดที่ค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ให้มีองค์คณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคน มีอำนาจปรับเป็นพินัย ในอัตราโทษปรับสถานเดียว เฉพาะความผิดที่ค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงเกินหนึ่งหมื่นบาท โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐกำหนดผู้เป็นหัวหน้าองค์คณะและองค์คณะ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ หากมีเหตุที่ทำให้องค์คณะคนใดคนหนึ่งไม่อาจพิจารณาปรับเป็นพินัยต่อไปได้ ให้หัวหน้าหน่วยงาน ของรัฐกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐในบัญชีแนบท้ายประกาศ เพื่อประกอบเป็นองค์คณะแทน