xs
xsm
sm
md
lg

เรขาคณิตของความเหลื่อมล้ำ มุมมองเส้นทางชีวิต กับการลงทุนในเด็กและเยาวชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ในทางเรขาคณิตยูคลิด (Euclidean geometry) ซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาล มีการกล่าวถึง อสมการหรือความไม่เท่าเทียมของสามเหลี่ยม (Triangle inequality theorem) ข้อหนึ่งว่า ด้านที่กว้างที่สุด อยู่ตรงข้ามกับมุมที่กว้างที่สุดเสมอ หรืออีกนัยหนึ่ง หากมุมยิ่งกว้าง ระยะทางระหว่างจุดสองจุดของด้านตรงข้ามมุมนั้นก็ยิ่งกว้างไปด้วยและหากยิ่งขยายสัดส่วนของสามเหลี่ยมด้วยการเพิ่มระยะทางของทั้งสามด้านออกไปมากแค่ไหน ระยะทางระหว่างสองจุดฝั่งตรงข้ามกับมุมที่กว้างที่สุด ก็จะยิ่งกว้างขึ้นไปอีก

กฎความไม่เท่าเทียมของสามเหลี่ยมจะว่าไปแล้วไม่ต่างอะไรไปจากปฐมบทของความเหลื่อมล้ำ ที่เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก หรืออาจะตั้งแต่การปฏิสนธิด้วยซ้ำ ที่หากจุดเริ่มมีความแตกต่าง เหลื่อมล้ำเพียงแค่คืบ เมื่อเวลาผ่านไปบนเส้นทางชีวิตเพียงไม่กี่ปี ช่องว่างทางสังคมก็สามารถถ่างกว้างจนเพื่อนที่เคยร่วมเรียนชั้นอนุบาลด้วยกันมา ตามหากันไม่เจอเมื่อล่วงเข้าสู่วัยต่างๆ ต่อไป เพราะเส้นทางชีวิตทุกลำดับได้พัดพาให้เพื่อนวัยเยาว์ไปอยู่ในสังคมคนละชั้น
สิ่งที่น่าจับตามองประการหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาคือ ในภาพรวมเรามีเงินมากขึ้น แต่เรายังพาคนกลุ่มที่มีรายได้ในระดับฐานล่างออกมาไม่ได้มากเท่าที่ควร ธนาคารโลกรายงานว่าในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยลดความยากจนลงจากร้อยละ 58 ในพ.ศ. 2533 เหลือเพียงร้อยละ 6.8 ในปี 2563 แต่ถึงกระนั้นร้อยละ 79 ของคนยากจนยังอยู่ในพื้นที่ชนบท
การมองความเหลื่อมล้ำโดยดูแต่ดัชนี Gini ที่รายงานว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำลดลง โดยที่ไม่ได้มองความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นตามช่วงชีวิต และการที่ครัวเรือนร้อยละ 20 ของกลุ่มที่มีระดับรายได้ล่างสุดยังมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคสูงกว่ารายได้ตาม 30 ปี ที่ผ่าน รวมทั้งความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อยกฐานะอันเนื่องมาจากขีดจำกัดของทรัพยากรครอบครัว อาจเป็นหลุมพรางที่ทำให้นักยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลายหลงดีใจได้เพียงชั่วคราว
ประชากรวัยเด็กของสังคมไทยขณะนี้มีสัดส่วนราวร้อยละ 16 ข้อมูลปี 2565 รายงานว่ามีอยู่ราว 14 ล้านคน และมีจำนวนเกิดใหม่ลดลงทุกปี ในปีที่ผ่านมาเกิดเพียง 502,107 คน จากที่เคยเกิดเป็นล้านเมื่อ 50 ปีก่อน เด็กและเยาวชนไทยอยู่ในครัวเรือนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 6,250 บาทต่อเดือน ราวร้อยละ 60 และเฉพาะที่อยู่ในครัวเรือนที่รายได้ตกเส้นความยากจน ต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน มีราวร้อยละ 10 สะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์

นอกจากนี้ ข้อมูลรูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรวัยเด็กยังพบอีกว่า แนวโน้มครัวเรือนที่พ่อแม่ลูกอยู่อาศัยพร้อมหน้ากันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีเด็กไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือกับแม่ และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจน และอยู่ในชนบท ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิตในวัยต่อๆ ไป รวมทั้งประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences: ACE) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการในวัยต่อไป ก็มักจะพบในครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานข้อมูลปี 2563 ว่า จากนักเรียนที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ 7.03 ล้านคน มีนักเรียนที่จัดว่าอยู่ในครอบครัวยากจนพิเศษที่มีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน 836,535 คน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา และยังมีเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาอีกราว 431,364 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 12 สูงกว่าเวียดนามซึ่งมีราวร้อยละ 10 ในขณะที่มาเลเซียมีเพียงร้อยละ 0.3 และสิงคโปร์ร้อยละ 0.06

ในมุมมองเส้นทางชีวิต (Life course perspective) ความเหลื่อมล้ำในวัยเด็กเป็นเหมือนกับองศาของมุมในสามเหลี่ยมที่ยิ่งกว้างเท่าไหร่ ก็จะยิ่งถ่างให้ระยะห่างของสองจุดฝั่งตรงข้ามกว้างขึ้นเท่านั้น และแม้ความเหลื่อมล้ำอันเล็กน้อย ณ จุดเริ่มต้นอัน แต่เมื่อระยะทางจากจุดกำเนิดทอดยาวออกไป จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น จนถึงวัยทำงาน ความแตกต่างก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งรุนแรงขึ้น และสามารถส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากเจเนอเรชันหนึ่งไปสู่เจเนอเรชันถัดๆ ไป จนทำให้การแบ่งชนชั้นในสังคมชัดเจนและรุนแรงขึ้นในระยะยาว

การลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเด็กในทุกมิตินับตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ การดูแลในช่วงปฐมวัย การเรียนรู้ อาหาร พัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจ จะต้องทำเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศหากต้องการหลุดจากกับดับรายได้ปานกลางอย่างถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น