xs
xsm
sm
md
lg

อย.สหรัฐฯ อนุมัติยา Lecanemab ใช้รักษาอัลไซเมอร์ระยะต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเผย "โรคอัลไซเมอร์" เกิดจากการสะสมของโปรตีนในสมอง ตรวจได้ด้วย PET Scan และมีชุดตรวจแม่นยำ 90% กำลังพัฒนาชุดตรวจอย่างง่ายแบบโควิด เผย อย.สหรัฐฯ รับรองยา lecanemab ใช้รักษาระยะต้นเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันอัลไซเมอร์โลก ทั้งนี้ โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก เชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 6-7 แสนคนในไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม เดิมอาศัยวิธีประเมินอาการของผู้ป่วย ซึ่งยืนยันการวินิจฉัยได้แน่ชัดจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองหลังเสียชีวิตเท่านั้น และยาที่ใช้รักษายังเป็นเพียงการประคับประคองอาการ ยังไม่มีแนวทางรักษาให้หายขาด แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมองที่เรียกว่า "โปรตีนอะไมลอยด์เบตา" และ "โปรตีนเทาว์" ซึ่งนำไปสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ๆ การวินิจฉัยปัจจุบันมีการส่งตรวจพิเศษ ได้แก่ 1.การตรวจภาพถ่ายรังสีนิวเคลียร์ด้วยเครื่องเพทสแกน ซึ่งจะตรวจจับโปรตีนและปริมาณการกระจายตัวในการสะสมของโปรตีนบนส่วนต่างๆ ของสมอง เพื่อแปลผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แยกโรคสมองเสื่อมอื่นๆ มีโอกาสกลายเป็นสมองเสื่อมเต็มขั้นมากแค่ไหน

2.การตรวจระดับโปรตีนโดยตรงจากน้ำไขสันหลังและในเลือด และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 และล่าสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาในอเมริกาและยุโรปได้มีการรับรองชุดตรวจในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้เพียงการเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้น ในรูปแบบของแผ่นตรวจสำเร็จรูป  โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจก็อาจจะตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า เดิมรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยยาและใช้ยาตามอาการเพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง แต่ไม่สามารถชะลอการเสื่อมถอยและการฝ่อของสมองได้ ทำให้ล่าสุด อย.สหรัฐอเมริกา ได้รับรองให้สามารถใช้ยา lecanemab สำหรับการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต้นได้ ก.ค.2566 ที่ผ่านมา และมีการผลิตยาใหม่ๆ อีกมากมายที่อาจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีราคาแพงมาก และยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง อาจติดตามข้อมูลหลังการใช้จริงในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อนจะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สามารถให้บริการส่งตรวจระดับโปรตีนของโรคอัลไซเมอร์ในน้ำไขสันหลังได้ หากผู้ป่วยรายใดมีข้อบ่งชี้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการประเมินเบื้องต้นได้ที่สถาบันประสาทวิทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น