“ศิริราช” บินมอบความรักแก่มนุษยชาติสู่ผู้ป่วยชาวเนปาล ในโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม"ก้าวแรกของพระบรมศาสดา" 1-6 ตุลาคมนี้
โครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ผนึกพลังแพทย์และคณะสงฆ์ไทยภายใต้พันธกิจ “ศิริราชมอบความรักให้แก่เพื่อนมนุษย์ Love for Humanity by Siriraj” ในแดนพุทธภูมิที่ลุมพินี เนปาล ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสและยากไร้ชาวเนปาล พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์
วันที่ 24 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันมหิดล และเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย โดยตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา และพระราชทรัพย์ ในการวางรากฐานพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขไทยให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้พสกนิกรไทยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง โดยไม่เลือกยากดีมีจน ทรงอุทิศพระองค์เป็นแบบอย่างในการ “ให้” อย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 135 ปี ที่โรงพยาบาลศิริราชดูแลรักษาพยาบาลคนไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย แหล่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อสร้างสรรสุขภาวะที่ดีโดยไม่จำกัดแต่เพียงคนไทย ศิริราชยังมอบโอกาสด้านสุขภาพแก่มนุษยชาติ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ”
“ศิริราช” ยังทำหน้าที่โรงเรียนแพทย์เผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์นานาชาติที่เข้ามาศึกษาต่อทั้งจากภูฏาน เนปาล เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เมื่อเรียนจบแล้วจึงกลับไปทำงานในประเทศของตน แต่ในบางประเทศแพทย์เหล่านี้ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ร่ำเรียนดูแลรักษาคนไข้ได้เต็มที่
“ศิริราช” จึงริเริ่มโครงการ ‘ก้าวแรกของพระบรมศาสดา’ เพื่อเติมเต็มบุคลากรทางการแพทย์ให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลประชาชนเองได้ ภายใต้พันธกิจ ‘มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ’ (Love for Humanity by Siriraj) โดยเริ่มส่งมอบให้แก่เนปาลเป็นประเทศแรก ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้แก่ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ที่เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล โดยทีมแพทย์นำโดย ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” และคณะรวม 30 คน จะเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยนวัตกรรมล่าสุดให้แก่ผู้ด้อยโอกาสจำนวน 35 ราย ระหว่างวันที่ 1-6 ตุลาคม 2566 ที่ โรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล
ศ.นพ.กีรติ เล่าถึงที่มาโครงการว่า เป็นความตั้งใจของภาควิชาที่จัดทำโครงการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และเลือกพื้นที่ลุมพินี ประเทศเนปาล เพราะเป็นสถานที่สำคัญ เป็นต้นธารของพระพุทธศาสนา แต่ยังขาดความพร้อมในด้านการแพทย์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ซึ่งได้ผนึกพลังความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งคณะแพทย์และคณะสงฆ์
“พระพุทธองค์เริ่มก้าวแรกที่ลุมพินี ประเทศเนปาล และเราได้รับเชิญจากหมอกระดูกของเนปาลให้ไปบรรยาย ไปฝึกสอนเขา เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้ทำ และเริ่มตั้งต้น โครงการนี้จึงเกิดขึ้นด้วยนิมิตหมายที่ดี เพราะว่าเราอยากไปช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสของประเทศเพื่อนบ้าน ให้ได้รับโอกาส ให้เขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาจากสิ่งที่คนไทยและประเทศไทยไปมอบให้” ศ.นพ. กีรติ กล่าวถึงจุดริเริ่มโครงการและว่า
“เราต้องก้าวข้ามกรอบความคิดว่า จะไปช่วยเหลือคนชาติอื่นไหม ทำไมต้องไปเปิดโครงการที่เนปาลเป็นโครงการแรก จุดนี้คือความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะทีมแพทย์ยังต้องถามตัวเองว่า เงินตรงนี้เรานำมาช่วยคนไทยก่อนดีไหม งบตรงนี้สามารถช่วยคนไทยได้ตั้งแยะ จะคุ้มกว่าหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดเราตอบตัวเองได้ว่า สำหรับคนที่ขาดแคลน โอกาสของหนึ่งชีวิตที่เขาได้รับการรักษานั้นมันมีคุณค่ามหาศาล เหนือกว่าจำนวนเงินที่เรามอบให้ และที่สำคัญในส่วนของคนไทยนั้นเราทำโครงการแบบนี้มาตลอดสิบปีที่ผ่านมามากกว่า 20 ครั้งแล้ว เรียกได้ว่าเป็นงาน “บุญต่อบุญ” แต่ครั้งนี้เราต้องการจะเดินตามรอยพระศาสดาที่ได้ก่อกำเนิดศาสนาพุทธขึ้นที่นั่น เพื่อมอบความรักที่ยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นวรรณะเลย”
จากนั้นคณะแพทย์จึงไปกราบขอความสนับสนุนจากหลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม (พระราชวชิรธรรมาจารย์) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และหลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก (พระราชภาวนาวชิรากร) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย “เราไปกราบเรียนท่านว่า เราจะมีทีมแพทย์ไปช่วยในลักษณะนี้ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย เพราะเป็นการตอบแทนกตัญญูสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ท่านจึงจัดทอดผ้าป่าให้ เพื่อเป็นกองทุนในการดำเนินโครงการ ไปผ่าตัด ไปสอน ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ชาวเนปาล”
อีกทั้งยังให้เข้าไปนมัสการหลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย (พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นภิกษุเชื้อสายชาวเนปาลที่ลุมพินีโดยกำเนิดในตระกูลศากยะที่เป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า
“หลวงพ่ออนิลมานเข้ามาช่วยเหลือประสานโครงการในเรื่องของการเตรียมความพร้อม โดยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราไปสำรวจพื้นที่โรงพยาบาลในพื้นที่มาแล้ว พบว่าเป็นเรื่องบังเอิญอย่างมากว่าโรงพยาบาลที่จะใช้ผ่าตัดในครั้งนี้ มีชื่อว่า “โรงพยาบาลสิทธัตถะ” สอดรับกับโครงการที่เราจะเดินตามพระพุทธองค์ และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเราบินไปคัดกรองผู้ป่วยล่วงหน้า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากเรา 703 ราย แล้วคัดกรองผู้ป่วยที่จะเข้าโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม 35 ราย”
ในส่วนทีมแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช ประกอบด้วย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลปฏิบัติการ และนักกายภาพบำบัดรวมกว่า 30 ชีวิต พร้อมเดินทางไปโรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี วันที่ 1-6 ตุลาคม ที่จะถึงนี้
ศ.นพ.กีรติกล่าวเสริมว่า “วงการแพทย์ไทยมีศักยภาพสูงในการรักษาโรคข้อเข่าข้อสะโพก รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่การไปเนปาลในครั้งนี้มีอุปสรรคและข้อจำกัดที่ต้องฟันฝ่ามากมาย ทั้งเรื่องของภาษา เครื่องมือแพทย์ และการขนส่ง รวมถึงบุคลากรของเราที่ไม่สามารถไปกันได้ครบทีม และยังต้องเตรียมการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการอีกทอดหนึ่งด้วย”
แต่หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ เมื่อผู้ป่วยเข้าโครงการแล้วต้องกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ และปลอดภัยจากการผ่าตัด ทุกคนจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ดีที่สุดก่อนออกเดินทาง
“เราจะใช้เวลาในการผ่าตัดสองวัน ตรวจดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีกสองวัน ระหว่างนั้นก็จะมีการเรียนการสอนด้วย แพทย์ที่มาเรียนกับเรา เข้าเคสกับเราจะเรียนกันแบบ on the job เลย คือเรียนกันหน้างาน ทั้งงานวิสัญญี ผ่าตัด พยาบาล กายภาพ การเรียนรู้การถ่ายทอดอาจไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่อย่างน้อยมันก็จะกระตุ้น จุดประกายให้เขาเห็นว่าการรักษาแบบนี้เกิดขึ้นในโลกแล้ว และเขามีส่วนร่วมทำให้เป็นไปได้และเป็นจริง แล้วเขาสามารถไปต่อยอดไปเรียนรู้เพิ่มเติม”
หัวหน้าโครงการกล่าวด้วยว่า ศิริราชได้นำนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ใช้รักษาผู้ป่วยในการทำหัตถการเปลี่ยนข้อเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังการผ่าตัด แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก และไม่มีการอักเสบ เป็นนวัตกรรมที่จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ พร้อมทั้งส่งมอบแผนการดูแลรักษาหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์ออร์โธปิดิคส์ในเรื่องความก้าวหน้าการดูแลบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูก ผู้ป่วยบาดเจ็บเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด ผู้ป่วยกระดูกหักรอบข้อสะโพก รวมถึงโรคที่พบบ่อยทางมือ ผ่านระบบ Online และ Onsite
สำหรับการดูแลหลังผ่าตัด ศ.นพ.กีรติย้ำว่า เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์จนทำให้คนไข้เสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือหัวใจขาดเลือด ดังนั้น 1-2 วันหลังผ่าตัดจะมีทีมแพทย์คอยเฝ้าดูแล ช่วยเหลือ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และไม่ไกลจากลุมพินีคอยสนับสนุน และในระยะพักฟื้นหลังจากที่ทีมแพทย์ไทยเดินทางกลับเแล้ว จะยังมีแพทย์ที่คอยดูแลประสานงานต่างๆ จนกว่าคนไข้จะเดินได้ กลับบ้านได้
“เป็นครั้งแรกของศิริราชที่ผ่าตัดใหญ่ข้อเข่าในต่างแดน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แรกสุดเราก็หวั่นว่าจะทำได้ดีหรือไม่ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยเป็นที่สุด แต่ยิ่งเดินหน้าทำงานนานวันขึ้นเรายิ่งค้นพบว่า ธรรมะจัดสรรทำให้เราได้พบกับคนที่ช่วยสนับสนุนดูแลซึ่งกันและกันไม่ว่าเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนโครงการก้าวหน้าไปได้ราบรื่น ทำให้เราเกิดความมั่นใจในความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ หมอคิดเสมอว่า สปิริตของความเมตตาช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างกันและกันได้” ศ.นพ.กีรติ ย้ำถึงความมุ่งมั่น
สำหรับการก้าวสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยอย่างเต็มตัว ผู้สูงอายุจำนวนมากจึงเป็นโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูกที่เสื่อมลงตามวัย เพราะความเสื่อมของโครงสร้างกระดูก ทั้งกระดูกสันหลัง กระดูกขา กระดูกข้อเข่าข้อสะโพก กระดูกข้อมือ แล้วยังมีข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงระบบเส้นประสาท
“ผู้ป่วยข้อเข่าข้อสะโพกที่มาปรึกษาแพทย์ มีประมาณร้อยละ 30 ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช แพทย์ต้องผ่าตัดข้อเข่าเฉลี่ยปีละประมาณหมื่นกว่าข้อ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่สูงถึงข้อละ 6-7 หมื่นบาท เราจึงมีโครงการนำทีมแพทย์อาสาไปหาคนไข้ชายขอบที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อส่งมอบการรักษาให้ถึงที่ โดยในเมืองไทยเราตั้งใจทำโครงการกันอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง คนไข้จึงไม่ต้องเดินทางมาถึงกรุงเทพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเราทำผ่านมูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต เป็นสะพานบุญให้กับผู้มีจิตศรัทธา เพื่อส่งมอบต่อให้กับคนไทยที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล เราต้องช่วยกันเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดกันด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้” ศ.นพ.กีรติ กล่าวทิ้งทายถึงภารกิจต่อไป
ความงดงามของโลกใบนี้ นั่นคือ การมอบสิ่งดีๆ ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่แบ่งชนชาติและชนชั้น เพราะทุกคนเท่าเทียม สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมเป็นผู้ให้โดยบริจาคได้ที่บัญชี “ศิริราชมูลนิธิ ธนาคารไทยพาณิชย์” เลขที่บัญชี 016-300049-4 หรือบัญชี “วัดป่าบ้านตาดเพื่อผู้ยากไร้และกระดูก” ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 510-458808-1
"True success is not in the learning,
but in its Application to the benefit of mankind
ความสำเร็จที่แท้ มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถ
ในการประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก