โดย...นพ.ไพบูลย์ เอี่ยมสุภัคกุล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี
การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทำหน้าที่ช่วยขับของเสียที่เป็นของเหลวออกจากร่างกาย แต่หากเกิดความผิดปกติและไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
กลไกการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มต้นจากการที่ไตกรองของเสียออกจากเลือด แล้วขับออกมาเป็นปัสสาวะ ไหลไปตามท่อไตสู่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มสมองจะสั่งการให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวทำให้เกิดแรงดันและไหลออกจากร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อส่วนสำคัญอย่าง “ท่อไต” มีการอุดตันเกิดขึ้น ปัสสาวะก็จะไม่สามารถระบายออกจากไตได้ หรืออาจไหลย้อนกลับเข้าสู่ไตทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยการอุดตันของท่อไต สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นตั้งแต่กำเนิด, รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดครั้งก่อน, หรือเกิดจากโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการกดเบียดท่อไตได้
อาการของท่อไตอุดตัน จะขึ้นอยู่กับว่ามีการอุดตันที่ตำแหน่งใด อุดตันทั้งหมดหรืออุดตันเพียงบางส่วน แต่อาการทั่วไปมีดังนี้ ปวดบริเวณสีข้างหรือหลัง, คลื่นไส้อาเจียน, มีไข้หนาวสั่น, ปริมาณปัสสาวะลดลง, ปัสสาวะติดขัด, มีเลือดในปัสสาวะ, ความดันโลหิตสูง, และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง
การรักษาภาวะท่อไตอุดตัน สามารถทำได้โดยการใส่สายระบายปัสสาวะออกจากกรวยไตผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Nephrostomy :PCN) ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ไขภาวะอุดตันเฉียบพลัน เพื่อชะลอภาวะไตวาย ทั้งนี้ ในกรณีผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อได้รับใส่สายระบายปัสสาวะไปแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรักษาโรคต้นเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตัน เมื่อรักษาได้ก็สามารถนำสายระบายปัสสาวะออกได้ หากยังไม่สามารถแก้ไขการอุดตันได้จำเป็นต้องใส่สายระบายในระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และต้องมาเปลี่ยนสายระบายทุก ๆ 3 เดือน