รพ.หนองคาย พัฒนาศูนย์ทันตกรรมเปิดวอล์กอินงาน "อุดฟัน-ขูดหินปูน" ไม่ต้องจองคิว หารือทั้งเขตสุขภาพที่ 8 เปิดระบบคิวออนไลน์จองรักษาเฉพาะทาง คลองรากฟัน ที่ไหนเร็วกว่าเลือกไปได้ทันที ส่วนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เปิดกว้างทั้งเขต 8
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ รพ.หนองคาย ทพญ.ชลลดา แดงสุวรรณ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษเฉพาะทาง (ทันตกรรมประดิษฐ์) รองหัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม ศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย กล่าวถึงการพัฒนาศูนย์ทันตกรรมตามนโยบายจัดตั้ง รพ.ทันตกรรม ว่า ศูนย์ทันตกรรมอยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งเดิมทั้งฟลอร์เรามีการกั้นห้อง แต่ไม่ได้แยกระบบอากาศ พอมีสถานการณ์โควิด 19 เลยมีการปรับปรุงห้องและระบบอากาศใหม่เป็นห้องความดันลบ โดยใช้เงินบำรุง รพ.มาพัฒนา 5.5 ล้านบาท มีจำนวน 12 ยูนิต ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งหลังจากปรับปรุงห้องทำให้รองรับบริการคนไข้ทันตกรรมได้มากขึ้น จากเดิมอยู่ประมาณ 60-70 คนต่อวัน ขณะนี้คนไข้มากกว่า 90 คนต่อวันจนถึง 100 กว่าคนต่อวัน สาเหตุที่เราพัฒนาศูนย์ทันตกรรมขึ้นมา เพราะบุคลากรเรามีความพร้อมและมีเฉพาะทางหลายด้าน โดยมีบุคลากรทั้งหมด 33 คน แบ่งเป็น ทันตแพทย์ทั่วไป 4 คน ทันตแพทย์เฉพาะทาง 7 คน นักวิชาการสาธารณสุขและทันตาภิบาล 4 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีก 18 คน
สำหรับปัญหาด้านทันตกรรมของคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นงานฟันผุ จะมาจบที่ถอนฟัน อุดฟัน และรักษาคลองรากฟัน ซึ่งตามสถิติงานถอนฟันยังเยอะอยู่ แต่การอุดฟันถ้ายอดรักษาเยอะ แปลว่า คนไข้แคร์ตัวเองมากขึ้น พอฟันผุนิดนึงก็รีบมาอุด ก็จะจบที่อุดฟัน ไม่ต้องไปถึงขั้นรักษาคลองรากหรือถอนฟัน ดังนั้น เราจะรับวอล์กอินงานอุดฟัน ขูดหินปูนทุกวันตอนเช้า จากเดิมเมื่อก่อนจะมีคิว บางคนรอคิวเกือบเดือน ตอนนี้ก็ไม่มีคิว และยังมีบริการนอกเวลาอีก อย่างไรก็ตาม คิวงานเฉพาะทางค่อนข้างยาว เพราะหมอเฉพาะทางเรามีไม่เยอะ เช่น งานรักษาคลองรากฟัน เรามีทันตแพทย์ 1 คน ขณะที่คนไข้มีความรู้ความเข้าใจต้องการเก็บฟันไว้มากขึ้น ตัดสินใจไม่ถอน ทำให้การรักษาครองรากฟันมีคิวยาวขึ้น คนไข้รอคิวประมาณ 1 ปี แต่เราก็ให้บริการต่อวันได้เพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องไปรอสวอปตรวจเชื้อเหมือนตอนโควิด และมีการเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา
"เรามีการหารือในระดับ รพ.ในเขตสุขภาพที่ 8 ด้วยกัน เช่น หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม บึงกาฬ คุยร่วมกันหาทางแก้ปัญหาคิว เราพัฒนาคิวรักษาเฉพาะทาง เช่น งานคลองรากฟัน คนไข้จะสามารถเข้าไปจองคิวออนไลน์จากส่วนกลาง ตรงไหนจังหวัดไหนคิวเร็วกว่าก็สามารถไปได้ ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ อีกเรื่องคือหาคนไปเรียน โดยหาทุนให้หมอฟันทั่วไปไปเรียนเฉพาะทางมากขึ้น" ทพญ.ชลลดากล่าว
ทพญ.ชลลดากล่าวว่า สิ่งที่เรายังขาด คือ เราอยากได้บุคลากรเฉพาะทางหลายสาขา เช่น ทันตแพทย์คลองรากฟัน หรือหมอทันตกรรมสำหรับเด็กเรายังไม่มี แต่เตรียมห้องไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากเราได้ทันตแพทย์เพิ่ม เราก็มีโครงการมที่จะออกไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต. ไปทำงานไพรมารีแคร์ คือ จะไปทำฟันปลอมถอดได้ให้ชาวบ้านคนแก่ที่อยู่ไกลเดินทางไม่สะดวก ก็ไปทำที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน แต่ตอนนี้ทันตแพทย์เรามีไม่พอ ซึ่ง รพ.สต.ที่นี่ยังไม่ได้ถ่ายโอนไป หลายที่มีเก้าอี้ทำฟันแล้ว อย่างไรก็ตาม เรามีทันตาภิบาลไปออกเวียนดูแลงานถอนฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน งานทันตกรรมป้องกัน ทาฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟันเด็ก หากมีการถ่ายโอนก็คิดว่าอาจมีผลกระทบก็ต้องมาแพลนงาน เพราะ รพ.ก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล สำหรับการพัฒนางานทันตกรรมของ รพ.ชุมชนมาช่วยลดภาระงาน เรามีการพัฒนาโหนดทิศเหนือ คือ รพ.ท่าบ่อ และโหนดทิศใต้ คือ รพ.โพนพิสัย ซึ่งมีทันตแพทย์ค่อนข้างมาก แต่อาจมีเฉพาะทางไม่มากเท่าเรา ก็ทำให้บางเคสไม่ต้องเข้ามารักษาที่นี่
ทพญ.ชลลดากล่าวว่า การยกระดับงานทันตกรรม ทำให้คนไข้สะดวกรับบริการเร็วขึ้น คนไข้ปลอดภัย หมอปลอดภัย ทำงานสบายใจ ทำงานได้เยอะและเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับตอนยังไม่ทำห้องกับปรับปรุงห้องแล้ว พูดง่ายๆ คือทำให้เราทำงานเร็วขึ้น เยอะขึ้น ส่วนสเต็ปต่อไปคิดว่าจะขยายพื้นที่มากขึ้น อาจจะมีการหาฟลอร์ที่ใหญ่กว่านี้ เพื่อได้จำนวนห้องมากกว่านี้ เพราะเรามีหมอในระบบที่ได้เรียนต่อตามทุนที่ยังไม่กลับมาอีก ก็ต้องมารองรับจุดนี้ ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมรองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เรามีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เรารับดูแลคนไข้ทุกสิทธิและจ่ายเงิน เพียงดูจาก 13 หลักก็จะรู้ใช้สิทธิอะไร ยิ่งบัตรทองค่อนข้างเปิด อยู่โคราชก็มาได้ ยิ่งเขต 8 ฟรีหมดมีการเบิกจ่ายร่วม
ถามถึงกรณี รพ.ทันตกรรม จะช่วยอย่างไร ทพญ.ชลลดากล่าวว่า ทำให้มองเห็นความก้าวหน้าของทันตแพทย์ จะไปได้เหมือนแพทย์ ถ้ามีศูนย์ทันตกรรมหรือ รพ.ทันตกรรม ที่เราเป็นผู้บริหาร ทันตแพทย์จะมีความก้าวหน้าด้านนี้ สำหรับคนที่สนใจอยู่ในระบบราชการ ส่วนการลาออกมีเยอะอยู่คล้ายกับแพทย์ด้วยภาระงาน ค่าตอบแทนก็คล้ายกัน แม้ทันตแพทย์ไม่ได้ขึ้นเวรบ่ายดึกเหมือนทันตแพทย์ แต่เนื้องานไม่มีแค่ทรีตเมนต์ แต่มีงานเอกสาร งานบริหาร งานพัฒนาคุณภาพมากมาย ยังไม่รวมที่ต้องออกหน่วย พอ.สว.ไปช่วย ออกหน่วยเรือนจำประจำทุกเดือน ไปดูผู้ป่วยผู้ต้องขัง ยังมีงานหัวหน้าออกเอง ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงเราไปดูแลให้กับทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยนโยบายนี้ตอบโจทย์ให้คนอยู่ในระบบมากขึ้น ถ้าเขาสนใจแนวสายบริหาร ส่วนการจ้างรูปแบบอื่นอย่างลูกจ้างชั่วคราวก็เคยมี แต่ก็ลาออก เพราะหากศึกษาต่อก็ต้องลาออกไป