xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.เผย สบช.มีแพลนเปิด "คณะทันตแพทย์" ผลิตบุคลากรโดยเฉพาะ รองรับตั้ง รพ.ทันตกรรม เพิ่มบริการคนไข้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.แย้ม สถาบันพระบรมราชชนกมีแพลนเปิด "คณะทันตแพทยศาสตร์" ผลิตบุคลากรสายทันตกรรม เช่น ทันตาภิบาล หลังหาหน่วยงานผลิตยาก รองรับลุยงานแยกตั้ง รพ.ทันตกรรม เพิ่มบริการประชาชน พร้อมเล็งตั้งคณะกรรมการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยกระดับบริหารจัดการกรอบอัตรากำลัง สอดรับนโยบาย 30 บาทพลัส "ชลน่าน"

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการติดตามการดำเนินงาน รพ.ทันตกรรมของ รพ.หนองคาย เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากการสำรวจของ สธ.ถึงความต้องการการให้บริการที่ สธ.มีต่อประชาชน มี 2-3 เรื่องที่ประชาชนสนใจมาก คือ 1.การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 2.การยกระดับบริการทั้งหมด และ 3.การบริการทันตกรรม โดยพบว่า สธ.มีกิจกรรมการดูแลด้านทันตสาธารณสุข ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาโรคทางช่องปาก ประมาณ10 ล้านครั้งต่อปี ถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อย่างน้อยควรมีตรวจช่องปากปีละ 2 ครั้ง ขูดหินปูนปีละ 2 ครั้ง คนไทยมี 60 ล้านคนอย่างน้อยก็ต้องมี 120 ล้านครั้ง นี่ยังไม่ถึง 10% เราพบว่าภาพรวมในระบบเรามีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่กี่พันคน ขณะนี้มีประมาณ 8 พันคน แต่ที่เราขาดคือผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และยูนิตทำฟัน ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทันตกรรม การกำหนดบุคลากรที่ต้องมีเท่าไร การกำหนดจุดวางและเชื่อมต่อบริการทันตกรรม

"เลยกลับมาเป็นแนวคิดว่า ถ้าเราเปรียบเทียบงานทันตกรรมเหมือนงานดูแลรักษาของหมอ ก็ควรให้เขาได้ใช้ศักยภาพการบริหารจัดการตรงนี้อย่างเต็มที่ เพราะคนอื่นจะไปรู้ว่ามีหมอฟันกี่คน เครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้าง ต้องมีผู้ช่วยกี่คน อุปกรณ์เท่าไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน คงไม่มีใครรู้ดีกว่าหมอฟัน ก็เป็นแนวคิดพัฒนาเป็น รพ.ทันตกรรม ให้ทันตแพทย์ดูแลประชาชนในงานที่ต้องการได้เอง เชื่อว่าจะสามารถยกระดับการให้บริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ประมาณ 2 เท่า ภายใน 3-5 ปี เพราะเราทำแบบเดิม เพิ่มยูนิตทำฟัน เพิ่มทันตแพทย์ แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม ก็คงเพิ่มได้ปีละ 2 ล้านครั้งก็เก่งแล้ว แต่ถ้าเรามีระบบจัดการที่ก้าวกระโดด เราคงทำเหมือนเดิมไม่ได้ จึงต้องมี รพ.ทันตกรรม เพื่อให้ขีดความสามารถการให้บริการทันตแดพทย์และบุคลากรด้านทันตกรรม ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาสกล่าวว่า มีหลายแห่งที่เปิดเป็นคลินิกนอกเวลาหรือเปิดบริการ อย่าง รพ.หนองคายเป็นตัวอย่าง ก็มีอุปกรณ์ เครื่องมือขีดความสามารถ เราพยายามผลักดันให้เกิดอย่างเต็มที่ เป็นที่มานโยบายให้มี รพ.ทันตกรรม ที่บริหาารโดยกลุ่มทันตแพทย์และบุคลากรทันตกรรม ซึ่งขณะนี้มี 30 กว่า รพ.ที่กำลังพัฒนา แต่ต้องทำและพัฒนาไป ทั้งเชิงจำนวนบุคลากร เชิงโครงสร้าง เชิงระบบ และเชิงการบริหารจัดการการเงิน ซึ่ง สปสช.ที่ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในระบบกองทุนสุขภาพก็เห็นพ้องว่า การยกระดับบริการประชาชนให้เข้าถึง ก็ต้องมีการเติมเงินเข้ามาในระบบ สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าการจ่ายเงินจะจ่ายตามผลผลิตหรือจำนวนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการบริการประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2567 ก็จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้มีการยกระดับบริการประชาชน หรือ 30 บาทพลัส ที่เป็นชื่อเล่นก่อน งานทันตกรรมก็เป็นอีกงานที่จะยกระดับการให้บริการประชาชน ถ้าสมมติเราสามารถตั้ง รพ.ทันตกรรม อย่างน้อยทุกจังหวัดได้ในปีหน้าก่อน ส่วนต่อไปงานขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางเกินกว่าหน่วยงาน รพ.จะรับได้ ก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นกรมทันตกรรมก็เป็นเรื่องอนาคต

"การจะทำตั้ง รพ.ทันตกรรมในแต่ละแห่ง ต้องดูจากความพร้อมของบุคลากรที่จะทำเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจุดไหนความต้องการบริการมีเยอะ วางจุดไหนก็เกิดประโยชน์ อยากให้ รพ.มีความพร้อม เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจที่จะทำ จะเป็นจุดสำเร็จที่ทำให้เกิดขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

ถามว่าอัตรากำลังที่จะมารองรับจะผลิตได้ทันหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ถึงต้องให้เขาบริหารจัดการเอง เพราะเดิมเราเพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือ แต่นี่จะให้เขาดูทั้งระบบ จำนวนบุคลากร เครื่องมือ เงินที่เติมในระบบ ข้อมูล และการพัมฯาให้บริหารจัดการกันเอง


ถามอีกว่า สธ.จะต้องทำกรอบอัตรากำลังทันตแพทย์มากขึ้นด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เป็นอีกอันในแนวนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ที่บอกว่าการยกระดับบริการให้ประชาชน สิ่งหนุ่งที่ต้องคำนึงคือภาระงานของบุคลากร ภาพรวมเรามีสายงานบุคลรกรเยอะมาก เช่น ทันตกรรม มีทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ลำพังถ้าเราใช้กฎระเบียบแบบเดิมก็ไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ สธ.จึงมองว่าควรยกระดับการบริหารจัดการ ทั้งเชิงกฎระเบียบ เชิงยุทธศาสตร์มาไว้ที่ สธ.หรือไม่ ที่จะเป็นคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น ตรงนี้เป็นแนวคิดนโยบายก่อนแต่ก็สอดคล้องกับภารกิจ เพราะถ้าบุคลากรไม่สามารถพัฒนาหรือมีนโยบายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริการประชาชนที่สมบูรณ์แบบคงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังต้องจัดการอีกหลายส่วน ทั้งตัวกฎหมายกฎระเบียบเดิม คงไม่ได้เร็วมากนัก แต่ก็เป็นแนวคิดที่จะต้องเป็นเชิงนโยบายแปลงสู่ภาคปฏิบัติต่อไปซึ่งก็ต้องใช้เวลา เพราะต้องดูกฎหมายเก่า ไม่อยากให้ออกกฎหมายอันหนึ่งไปขัดกับกฎหมายอีกตัว ผู้ปฏิบัติงานก็ลำบากว่าจะยึดกฎหมายไหนถึงถูกต้อง ในทางราชการคือเวลามีกฎหมายอะไร ต้องทำให้ถูกต้องทุกกฎหมาย ถ้าขัดแย้งกันก็ต้องเคลียร์ให้จบ

"การผลิตบุคลากรต้องมองกันใหม่ เช่น ของ สธ.มีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ก็มี ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร เป็นอธิการบดี ก็ตอบรับเรื่องนี้ เพราะเวลาเราจะขอเพิ่มบุคลากรแต่ละด้านยากเหลือเกิน เพราะผู้ช่วยทันตแพทย์ถามว่าใครผลิตให้ มองไปมองมาก็แต่คนบอกดี แต่หาคนผลิตให้เราค่อนข้างยาก ถ้าเรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็จะสามารถผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น" นพ.โอภาสกล่าว


ถามย้ำว่า สบช.มีแพลนที่จะเปิดเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นมาใหม่เลยใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า มีแนวคิดและ ศ.นพ.วิชัย กำลังดูในรายละเอียดเรื่องนี้ ถ้ามุมมองตนก็คงจะได้เปิด เพราะถ้าถามว่าหน่วยงานที่มีศักยภาพการให้บริการประชาชนมากที่สุดก็คือ สธ. ทุกวันนี้หน่วยงานที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเยอะที่สุดก็คือ สธ. ฉะนั้น การมีคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ สบช.เพิ่มขึ้นมาอีกอันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น