xs
xsm
sm
md
lg

สป.อว. ร่วมกับ ม.บูรพา และ 9 เครือข่ายอุดมศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สป.อว. ร่วมกับ ม.บูรพา และ 9 เครือข่ายอุดมศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ด้าน อววน. พัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ


เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ (Research Network Sandbox) โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา รศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ และนักวิจัยใหม่จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม ณ โรงแรมโนโวเทลมารินา ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สป.อว. ได้สร้างความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายบริหารการวิจัย มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา สป.อว. ได้ปรับบทบาทจากการให้ทุนวิจัย เป็นการสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศด้านการวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานราก (Area-based & Local Economy) ตามยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยได้กำหนดให้มีการจัดทำข้อเสนอการวิจัยเบื้องต้น (Preliminary Research) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ มุ่งเน้นงานวิจัยที่เกิดผลลัพธ์และผลกระทบตรงตามความต้องการและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ (Research Network Sandbox) จะจัดทั้งหมด 4 Module ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 จึงนับว่าเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยรุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาจะได้เรียนรู้การบูรณาการการทำวิจัยครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain ) ตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ TRIUP Act หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่และประเทศ Impact pathway หรือเส้นทางสู่ผลกระทบจากงานวิจัย การวัด SROI การขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงเทคนิคการ Pitching ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย และเสริมสร้างกลไกความร่วมมือในระบบเครือข่ายวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน และโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างนักวิจัยคุณภาพ/นักวิจัยมืออาชีพให้กับประเทศต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น