สสส. - กรมสุขภาพจิต สานพลังภาคี จัดนิทรรศการรณรงค์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 ก.ย. ดึงนักเขียนบทละคร สร้างความสุขผ่านหนัง พร้อมเตรียมพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาชุมชน ลดสูญเสียจากการคิดสั้นทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ กรุงเทพฯ นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก แต่ละปีมีการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 1 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ชีวิตต่อ 40 วินาที ทำให้เกิดความสูญเสียต่อสังคม เศรษฐกิจทั่วโลก กรมสุขภาพจิต สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการรณรงค์เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก มุ่งป้องกันการฆ่าตัวตาย สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ ปี 2564-2565 ให้ไม่เกิน 8 ต่อแสนประชากร ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต มีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แพลตฟอร์มประเมินสุขภาพจิต Mental Health Check In Line OA KHUIKUN (คุยกัน) และเครือข่าย อสม. ช่วยเหลือ แก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตในชุมชน
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย และทางใจ เน้นวิธีการ “สร้างนำซ่อม” เน้นสร้างการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพจิต ควบคู่การพัฒนาระบบซ่อมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมสื่อสารรณรงค์สร้างความเข้าใจ เข้าถึงได้ง่าย ผ่านแคมเปญ “บ้านพลังใจ” “บ่อจอย” เพื่อให้คนที่เจอปัญหาได้รับแนวทางแก้ไขจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องเดียวกัน เพื่อช่วยให้เกิดความสบายใจ พบความสุขกับตัวเอง พร้อมขยายผลพัฒนาแกนนำ “นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.)” เพื่อช่วยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาสุขภาพจิตทุกพื้นที่
นายนิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้ผลิตละครชื่อดัง กล่าวว่า ละครมาตาลดา ส่วนหนึ่งของบทละครมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง สะท้อนผ่านละครที่ถ่ายทอดเป็นให้กำลังใจ สร้างความสุขให้คนที่ประสบปัญหาสุขภาพทางด้านจิตใจ ละคร หรือหนัง จะให้ข้อคิดต่างๆ เสมอ คนสร้างเองก็ต้องการให้ประโยชน์กับผู้ชม นอกจากความสนุก ก็สอดแทรกสาระเข้าไปด้วย อย่างเรื่องวัยแสบสาแหรกขาด ก็สะท้อนปัญหาทั้งเรื่องการกลั่นแกล้ง ความเข้าใจของพ่อ แม่ ที่มีต่อลูก ก็ช่วยให้หลาย ๆ คนเข้าใจปัญหาที่เราอาจจะไม่เคยมองเห็นได้ ผ่านสื่อกลางอย่างละครได้ดี
พญ.อุบลพรรณ วีระโจง แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และนักเขียนบทละคร กล่าวว่า การสร้างสรรค์สื่อ สร้างแรงบันดาลใจ ทีมนักเขียนหลังจากได้ทำงานร่วมกับ สสส. และกรมสุขภาพจิต จึงได้มีการดูแลจิตใจนักเขียน ได้นำองค์ความรู้ หรือข้อมูลต่าง ๆ มาปรับใช้ในการเขียนบทละคร ที่สะท้อนปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนในสังคมที่เกิดขึ้น โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกไปใช้ในบทละคร และหลักจิตวิทยาในการสร้างตัวละครขึ้นมา มุ่งสร้างความสมดุลทั้งความสุข และสาระที่จะถ่ายทอดผ่านบทละคร ส่งต่อให้กับผู้ชมได้อย่างเข้าใจ