การมี “ลูก” เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง เมื่อผู้หญิงกลายเป็น “แม่” หมายถึง การมีภาระในการดูแลเลี้ยงดูคนอีกหนึ่งคน หลายคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ เพื่อสามารถให้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่ โดยต้องเสียสละรายได้ที่เคยมี ในขณะที่อีกหลายคนจำเป็นต้องกลับไปทำงานประจำ หลังจากได้สิทธิ์ลาคลอดเป็นเวลา 98 วันตามกฎหมาย แต่การที่ “แม่” ต้องรับหลายบทบาทในเวลาเดียวกันนั้น ทำให้ “แม่ทำงาน” หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่าจะต้องจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมาดูแลลูกได้อย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำ “แม่ทำงาน” สามารถ “สร้างสมดุล” ในการทำงานและการเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้ โดยกล่าวว่า “สมัยก่อนผู้หญิงจะมีหน้าที่เป็นแม่ศรีเรือน เลี้ยงดูลูกอยู่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมเพิ่มมากขึ้น ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ถึงแม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในการออกไปทำงาน แต่บทบาทในความเป็น “แม่” ก็ยังต้องดำรงอยู่ สำหรับ “แม่ทำงาน” มักจะมีความกังวลว่าตนเองจะไม่สามารถทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งได้อย่างเต็มความสามารถ มีความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถมีเวลาให้กับลูกได้อย่างเต็มที่ มีความกังวลว่าลูกจะไม่ผูกพันกับแม่ รู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมสร้างพัฒนาการต่าง ๆ ของลูก ความรู้สึกกดดันจากการที่ต้องดูแลลูกให้ดี แต่ก็มีความรับผิดชอบในการงานที่ต้องทำ มีความมุ่งหวังทางอาชีพที่ต้องเจริญก้าวหน้า และการเลี้ยงลูกต้องใช้แรงกายแรงใจค่อนข้างมาก ประสิทธิภาพการทำงานและความเต็มที่ในการทำงานอาจจะลดลงได้
“แม่ทำงาน” สามารถ “สร้างสมดุล” ในชีวิตได้ดังนี้ “จัดสรรเวลาและความสำคัญ” แม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อม ๆ กัน ควรจัดสรรเวลาและความสำคัญของสิ่งที่จำเป็นต้องทำ สิ่งที่รอได้ และสิ่งที่เว้นไปก่อนก็ได้ เพื่อให้สามารถจัดลำดับงานต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว หรือใช้วิธีการจดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นการจัดสรรทั้งเวลาและความสำคัญได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถจัดการงานและดูแลลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “ลดความคาดหวัง” ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองที่ทำทุกอย่างให้ออกมาให้สมบูรณ์แบบ แม่ทำงานหลายคนเผลอกดดันตัวเองในเรื่องการทำงาน หรือการเลี้ยงลูกเพราะรู้สึกว่ายังทำได้ดีไม่พอ หรือมีความคาดหวังกับคนอื่นและตัวเอง ต้องทำให้ดีมากกว่านี้ พึงระลึกอยู่เสมอว่าการมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ให้กับงาน และเลี้ยงลูกให้ดีเท่าเทียมกันนั้นไม่มีใครทำได้ ควรลดความคาดหวังลง ตั้งใจกับการทำงานเมื่ออยู่ในเวลางาน และให้เวลากับตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่เมื่อหมดเวลางาน จะพบว่าสามารถขจัดความเครียดที่เกิดจากความคาดหวังที่ไม่จำเป็นออกไปได้ “ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น” ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราอ่อนแอ หรือทำไม่ได้ อาจจะขอให้คนในครอบครัวช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูก จะช่วยคลายความเครียดของแม่ลงได้ ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยล้ามากเกินไป เพราะหากแม่เครียดหรืออารมณ์เสียย่อมส่งผลกระทบต่อลูกด้วย ด้านการทำงาน การเป็นแม่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพนักงานที่ทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง ซึ่งแม่มักจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักเมื่อลูกป่วยหรือมีนัดต่าง ๆ แม่สามารถพูดคุยกับหัวหน้าถึงกรณีความจำเป็นที่จะต้องลา ให้แม่เคลียร์งานให้เรียบร้อย หากกรณีที่มีงานจำเป็นอาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดความเครียดและความกดดันลงได้ “หาเวลาดูแลตัวเอง” เมื่อแม่ทำงานได้วางแผนการเลี้ยงลูกและการทำงานได้แล้วนั้น พบว่าเราจะมีเวลาเหลือให้หันกลับมาดูแลตัวเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากความหงุดหงิด โมโห จะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อแม่มีความเหนื่อย หรือเครียดมากเกินไป เพราะฉะนั้นจงหาสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายจิตใจและอารมณ์ เมื่อแม่มีความสุขก็จะสามารถทำงานอย่างมีความสุข และส่งพลังแห่งความสุขออกมาได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของแม่ทำงานคือ “การสร้างเวลาคุณภาพกับลูก” คือ การใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็ตามอย่างน้อยวันละ 10 – 20 นาทีต่อวัน การมีเวลาให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัยแรกเกิด – 3 ขวบ เพราะในช่วงวัยนี้เด็กต้องการแม่ ต้องการความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย การมีสายสัมพันธ์เชื่อมกันระหว่างแม่กับลูก ทำได้โดยหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำร่วมกัน เช่น เล่านิทาน วาดรูป ระบายสี ปลูกต้นไม้ โดยจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน หรือสอนลูกให้มีส่วนร่วมในการทำงานบ้านด้วยกัน ทำอาหาร ช่วยกันล้างรถ เก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จ ไปจ่ายตลาด การกอดลูก พูดคุย โต้ตอบกับลูกอย่างจริงใจและใส่ใจ ควรให้ความสำคัญกับลูกตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ซึ่งการสร้างเวลาคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ได้คือลูกจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับแม่ทำงานไม่ต่างจากแม่เต็มเวลา ลูกจะรู้สึกถึงความมีตัวตนของแม่ ซึ่งการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่กับแม่เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าสำหรับเขา โดยขณะที่แม่กำลังสร้างเวลาคุณภาพกับลูกนั้น แนะนำให้แม่วางเรื่องงานไปก่อน เช่น ไม่เอางานออกมาทำขณะอุ้มลูกหรือให้นมอยู่ แต่ควรรอให้ลูกหลับก่อน หากคุณแม่เฝ้าคิดถึงแต่เรื่องงานเป็นหลักแทนที่จะสนใจลูกที่อยู่ตรงหน้า แน่นอนว่าการดูแลลูกจะลดประสิทธิภาพลง และจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกด้วย
ท้ายที่สุด “ความสุข” ของ “แม่ทำงาน” คือการได้ “Balance ชีวิต” ระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูลูก เพราะเชื่อว่าการเป็นแม่ทำงานนั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุดต่อลูก ทั้งความสามารถในการให้อนาคตที่ดีกับลูก ทำให้แม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำหน้าที่ทั้งสองอย่างได้ดี ไปพร้อม ๆ กัน