สปสช. ลงนามร่วม TCELS หนุนผู้ผลิตนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เข้าสิทธิประโยชน์บัตรทอง ช่วยคนไทยเข้าถึงบริการ สร้างรายได้ประเทศตั้งแต่ต้นทาง เร่งประเมินความคุ้มค่า หลังบรรจุแล้ว 2 ตัว ทั้งถุงทวารเทียม-รากฟันเทียม เล็งต่อยอดกลุ่มเซลล์บำบัด ยีนบำบัด ตรวจคัดกรองไตเสื่อม-มะเร็งท่อน้ำดี เน้นประชาชนตรวจเองได้ ลดภาระงานบุคลากร รองรับนโยบายยกระดับบัตรทองรัฐบาลใหม่
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนา เรื่อง การขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผอ.TCELS
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศมที่ประกาศเจตนารมณ์ผลักดันด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผลักดันประเทศสู่ความเป็นเลิศและเข้าสู่การแข่งขันทั้งเชิงวิชาการและเศรษฐกิจ โดย TCELS มีหน้าที่ขับเคลื่อน เชื่อมโยงองค์ความรู้นวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคมให้ทุกคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์บริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียมและทั่วถึง เพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ เนื่องจากในไทยเรามีคนที่เก่งคิดเรื่องใหม่ๆ แต่ไม่มีเวทีนำสิ่งเหล่านี้มาก่อประโยชน์ แต่ TCELS เราจะหาคนที่อยู่ในมุมมืดเหล่านี้ นำนวัตกรรมเหล่านี้มาสนับสนุนเกิดการเอาไปใช้ได้จริง พร้อมให้ทุนงานวิจัย เติมเต็มสิ่งที่ขาดเชื่มโยงกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้สามารถผลิตและขายได้ และทำ Post Marketing Survilence ติดตามว่าผลดีจริงหรือไม่ สปสช.ก็จะเกิดประโยชน์
"นวัตกรรมที่เกิดขึ้น สำคัญคือในประเทศต้องใช้ ลูกค้าที่จะใช้มากที่สุดคือ สปสช. ทันทีที่ร่วมมือกัน ผลผลิตที่ผ่านกระบวนการพัฒนา รับรองมาตรฐานที่ยอมรับ อยากให้คนไทยได้สิ่งเหล่านี้ บริษัทออกผ่านสิทธิประโยชน์ สปสช. มีรายได้เข้าบริษัทและก็จะเกิดการต่อยอด สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เริ่มเห็นภาพและเกิดขึ้นแล้ว อย่างนวัตกรรมที่ทำไปแล้วคือ ถุงอวัยวะเทียมและรากฟันเทียม ที่ผลิตโดยคนไทย วัตถุดิบประเทศไทย สปสช.เอาเข้าสิทธิประโยชน์แล้ว โดยนวัตกรรมที่เรากำลังมองมีอีกหลายตัว เช่น ขณะนี้เรามีสมุนไพรบางตัวหากถูกต่อยอด ซึ่งปัญหาใหญ่คือหมอไม่ใช้ ถ้าเราพิสูจน์ได้ ซึ่ง TCELS จะทำตรงนี้ ว่าเกิดประโยชน์ ก็จะเข้าสิทธิประโยชน์ได้ หรือยังมี Advance Therapy Medicine หลายตัว อย่างเซลล์บำบัด ยีนบำบัดอยู่ในไปป์ไลน์ ซึ่งมีราคาสูง แต่ถ้าใช้ได้เยอะ สปสช.จะติดตามเทียบค่าใช้จ่ายกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น หากอนุมัติเป็นสิทธิประโยชน์บริษัทก็จะโตได้และพัฒนาต่อยอดได้อีก
"เวลาเราใช้ของผลิตในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ไม่เอาของจากต่างประเทศเข้า แต่วัตถุดิบมาจากต้นทางก็ในประเทศไทย จะเห็นสายธารของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น เวลาเก็บตัวเลขย้อนกลับไป กำไรไม่ได้เกิดเฉพาะตรงนี้ ชาวบ้านยางพาราขายยางได้ เป็นต้น พอย้อนกลับไปก็คุ้มค่าก็เหลือตัวเลขผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ทาง TCELS กำลังรวบรวมอยู่" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
นพ.จเด็จกล่าวว่า นวัตกรรมที่ สปสช.เพิ่มเข้าไปในสิทธิประโยชน์ หลายตัวเป็นงบประมาณเดิม แต่เปลี่ยนระบบจากให้ รพ.ต่างคนต่างซื้อ ก็มาจัดซื้อรวม ค่าใช้จ่ายบางตัวไม่เพิ่มขึ้น แต่เราจัดระบบมุ่งเป้าว่าช่วยสินค้าไทย อย่างถุงทวารเทียมไม่ได้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น แค่ขอมาใช้ในสินค้าคนไทย เราใช้ยางพาราในไทย ใช้ของของไทยก็สร้างเศรษฐกิจขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทุกตัวต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น หรืออย่างรากฟันเทียมเพิ่มงบประมาณก็จริง แต่ที่ซื้อกลับถูกกว่าต่างประเทศ จากรากละเป็นหมื่นบาท เหลือ 3 พันบาท สินค้า คุณหมอใช้แล้วดี เพราะผลิตในไทยไม่มีค่าขนส่ง เราซื้อใช้ในโครงการประมาณปีละ 7.2 พันคน แม้เพิ่มงบเล็กน้อยแต่ระบบเงินหมุนเวียน เมื่อเทียบถุงทวารเทียมที่ไม่ต้องเพิ่มเงินเลย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี นอกจากนี้ ยังมีอยู่ในไปป์ไลน์หลายตัว เช่น ตรวจปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันไตเสื่อม กำลังดูว่าสินค้าไทยออกมาได้ไหม คนไทยตรวจเองได้ไหม หลายตัวนโยบายรัฐบาลที่ออกมาเรื่องตรวจมะเร็งท่อน้ำดี โดยใช้ปัสสาวะเป็นเทคโนโลยีในประเทศไทย เมื่อวานก็ได้นำเรียน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ.ถึงนโยบายตรงนี้ว่าขับเคลื่อนได้เลย ใช้สินค้าไทยเลย ก็จะร่วมมือกับ TCELS ในการขับเคลื่อน งบประมาณไม่น่าเป็นปัญหา แต่ประโยชน์ที่ได้จากงบประมาณที่เติมลงไปกับเศราฐกิจที่กลับมา การจ้างงานในไทย การเติบโตเศรษฐกิจ ทาง TCELS จะไปวิเคราะห์กลับมา
"เรื่องนี้จะสอดระบกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการยกระดับบัตรทอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการ การเพิ่มบริการ โดยเมื่อวานที่พูดคุยกับรัฐมนตรี สธ.คือ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย เช่น การคัดกรองมะเร็งต่างๆ เทคโนโลยีพวกนี้คนไทยทำได้แน่นอน แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัด วันนี้เราร่วมมือกับ TCELS ส่งสัญญาณชัดแล้ว คิดว่าจะช่วยยกระดับบัตรทองไปอีกระดับ" นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จกล่าวว่า ส่วนกรณีกังวลว่าจะเพิ่มภาระบุคลากรหรือไม่ ได้คุยกับปลัด สธ.อยู่ว่าที่เราทำเป็นไปได้หรือไม่ ที่เน้นประชาชนทำเองส่วนหนึ่ง อย่างต่อนโควิดประชาชนก็ตรวจเอง หากจำเป็นจึงเข้าสู่กระบวนการที่บุคลากรทางการแพทย์ทำ เวลาเราหาเทคโนโลยีใหม่ๆ คือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีที่ประชาชนคัดกรองเองก่อน ถ้ามีภาระกับบุคลากรก็จะมีการพูดคุย อย่างรากฟันเทียมจริงๆ ท่านทำอยู่แล้ว หากใช้ฟันไม่มีรากฟันเทียม ไปๆ มาๆ คนไข้มามากกว่า เพราะต้องกลับมาซ่อมแก้ บุคลากรทันตแพทย์บอกขอใช้รากฟันเทียมดีกว่า แบบนี้เราเดินหน้าได้เลย
ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า เราอยู่ในช่วงกำลังติดตามผลการใช้งานนวัตกรรมทุกชิ้นตาม รพ.ต่างๆ กำลังรวบรวมอยู่ แต่คิดว่าดีกว่าจะนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ เพราะเรายกระดับคุณภาพนวัตกรประเทศไทย ส่วนตัวเลขคร่าวๆ ยังไม่มีกำลังดำเนินการประเมินอยู่