บอร์ด สปสช. เคาะเพิ่มสิทธิประโยชน์ "แผ่นปิดกะโหลก" เฉพาะบุคคลไทเทเนียมด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ ด้วยฝีมือคนไทย ขยายรายการจาก 1 ชนิด เป็น 4 ชนิด พร้อมเร่งรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ลดจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดสมอง
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไททาเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมองและไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมในการปิดศีรษะได้ เนื่องจาก สปสช.ให้สิทธิประโยชน์อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) รวมสกรู ชุดละ 12,000 บาท ที่ผลิตจากวัสดุ Polymethylmethacrylate (PMMA) ที่ต้องปั้นขึ้นในห้องผ่าตัด แต่มีข้อจำกัดที่ต้องใช้เวลาการคงรูป 1 ชม. และอาจทำให้ไม่เข้ารูปบ้าง แต่เมื่อมีบริษัทคนไทยที่ผลิตแผ่นปิดกะโหลกศีรษะด้วยไทเทเนียมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย มีแผนที่จะขยายตลาดไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ผ่านการอนุมัติรับรองคุณภาพและมาตรฐานจาก อย.สหรัฐแล้ว ประกอบกับนโยบายของ สปสช. ที่ให้พิจารณาจัดซื้อสินค้าจากบัญชีนวัตกรรมไทยก่อน
ดังนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข จึงพิจารณากำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขใหม่ โดยมีการแยกประเภทของแผ่นปิดกะโหลกศีรษะขึ้นมาจาก 1 รายการเป็น 4 รายการ ประกอบด้วย 1.อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) ในราคา 12,000 บาท เป็นสิทธิประโยชน์เดิมที่มีอยู่แล้ว 2. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจาก PMMA Plate การพิมพ์ 3 มิติ ราคา 25,000 บาท 3. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Plate (Indirect printing) ราคา 27,000 บาท และ 4. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Printing (Direct printing) ราคา 48,000 บาท และเสนอให้บอร์ด สปสช. พิจารณาอนุมัติในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้จำเป็นต้องใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะ 1,066 ราย/ปี
"รายการอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาที่สูงกว่าของเดิม จึงให้ปรับเกลี่ยงบประมาณที่อาจเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณเดิมที่เคยเบิกจ่ายต่อปี รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช. กำกับติดตามประเมินผลบริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไททาเนียม และรายงานผลเพื่อทราบต่อไป นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังให้ข้อคิดเห็นให้นำข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดสมองมาวิเคราะห์ลงลึกในรายเขตพื้นที่ เพื่อดูว่าเขตพื้นที่ไหนที่มีปัญหาค่อนข้างมากและจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รณรงค์สวมหมวกกันน็อกและเคารพกฎจราจร เพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับผ่าตัดสมอง และการใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะในอนาคต" นพ.จเด็จกล่าว