xs
xsm
sm
md
lg

นิสัยการอ่านของคนไทย : การอ่านลดลงจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันรู้หนังสือสากล” (International Literacy Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการรู้หนังสือและส่งเสริมการศึกษาทั่วโลก และนอกจากนี้การศึกษาถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดชีวิต การจะเข้าสู่การเรียนรู้ได้ กุญแจดอกสำคัญคือ “การรู้หนังสือ” หรือการอ่านออกเขียนได้ และกุญแจสำคัญดอกนี้ควรพยายามหยิบยื่นให้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตระหนักเสมอว่า เด็กทุกคนมีความสามารถมากพอที่จะเรียนรู้ เราเองต้องเป็นผู้ก่อรากสร้างฐานให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงความรู้ต่างๆ และในขณะเดียวกันเด็กควรมีความมั่นคงเชิงอารมณ์ จิตใจ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เหล่านี้จะเป็นต้นทุนให้เด็กๆ เติบโตได้อย่างมีภูมิคุ้มกันต่อไป เด็กๆ ในมูลนิธิเด็กโสสะฯ จะได้รับการเรียนการศึกษาที่เหมาะสมตามช่วงวัย และสูงสุดตามความสามารถ

คนไทย "อ่านหนังสือ" น้อยลง จริงหรือ ?


จากคำกล่าวที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ซึ่งเป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้ง แต่ความจริงแล้ว หากย้อนดูตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2561 พบว่าสวนทางกับคำพูดดังกล่าว โดยพบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านเฉลี่ยมากถึงวันละ 80 นาที

ผลการสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบอีกว่า เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ที่อ่านมีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 61.2 เด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่าน 63.0% สูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 59.5% เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า อัตราการอ่านของเด็กเล็กในปี 2558 มี 60.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 61.2% ในปี 2561 โดยเด็กหญิงมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนเด็กชายมีอัตราการอ่านที่คงที่

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า ปี 2561 การอ่านของประชากรในวัยเด็กและวัยสูงอายุมีอัตราการอ่านลดลงเล็กน้อย ในขณะที่วัยเยาวชนและวัยทำงานมีอัตราการอ่านที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 สำหรับผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมดใช้เวลาอ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน (80 นาที)

โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 49 นาทีต่อวัน (109 นาที) วัยเด็กและวัยทำงานใช้เวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ชั่วโมงเล็กน้อย ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดเฉลี่ย 47 นาทีต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่า ทุกกลุ่มวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น โดยวัยเยาวชนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 15 นาทีต่อวัน


หนึ่งในสถานที่สำคัญของหมู่บ้านเด็กโสสะคือ "ห้องสมุด" ในห้องสมุดของหมู่บ้านเด็กฯ จะเต็มไปด้วยหนังสือต่างๆ ที่ทางมูลนิธิฯ จัดหามา และมีผู้บริจาคที่มีจิตเมตตาบริจาคเข้ามาให้กับเด็กๆ เช่น หนังสือนิทาน หนังสือเรียน หนังสือให้ความรู้ประเภทต่างๆ ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่รวมตัวของเด็กๆ ที่จะเข้ามาอ่านหนังสือ ทำการบ้าน เรียนพิเศษ หรือค้นคว้าหาความรู้

ทั้งนี้ กว่า 50 ปี ที่มูลนิธิเด็กโสสะฯ ก่อตั้งมา มีเด็กกำพร้าที่ขาดโอกาส ได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยแรกเกิดจนเติบโต ได้รับการศึกษา สนับสนุนให้รู้หนังสือ จนสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างพึ่งพาตนเอง ได้อย่างมีความสุขแล้วกว่า 600 คน และปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอยู่ในความดูแลกว่า 700 คน โดยมีหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือการให้การศึกษาส่งเสริมการเรียนรู้เท่าที่ความสามารถมูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนได้ในทุกช่วงวัยของเด็กๆ และเยาวชนที่อยู่ในความดูแล

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กในครอบครัวโสสะ ได้ที่ https://www.sosthailand.org/donate-now

รับชมคลิป Never Ending Family : ครั้งแรกที่เด็กกำพร้าจะได้ถ่ายรูปกับครอบครัว ได้ที่ https://youtu.be/7HEu1ANr6c4




ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1028391
กำลังโหลดความคิดเห็น