หมอเตือนระวัง ผื่นแพ้ผิวหนังจาก "นิกเกิล" จากการสัมผัสโลหะ ชี้แเจาะหูเป็นปัจจัยเสี่ยง ผื่นมีลักษณะนูนแดง คัน มีน้ำเหลือง สามารถกระจายไปตำแหน่งอื่นได้ เผยอาหารบางอย่างทำผื่นเห่อเพิ่มขึ้น ใช้แผ่นแปะ Patch test ทดสอบได้
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผื่นแพ้สัมผัสจากการแพ้โลหะ "นิกเกิล" จะมีลักษณะเป็นผื่นนูน แดง คัน อาจมีน้ำเหลืองร่วมด้วย ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ใบหู หน้าท้อง มือ ซึ่งจะตรงกับบริเวณที่สัมผัสกับโลหะ เช่น ต่างหู หัวเข็มขัด เหรียญ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้สัมผัสจากนิกเกิล เช่น การเจาะหู บางครั้งอาจเกิดการกระจายของผื่นไปยังตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้สัมผัสโลหะโดยตรงได้ หรือเกิดจากโลหะชนิดอื่นร่วมด้วย ได้แก่ โคบอลท์ โครเมียม เนี่องจากวัตถุที่มีโลหะหลายชนิดอยู่ด้วยกัน การวินิจฉัยทำได้โดยการทำทดสอบโดยใช้แผ่นแปะผิวหนัง หรือ patch test หากต้องการทราบว่าโลหะมีนิกเกิลบนหรือไม่ สามารถใช้น้ำยา Dimethyliyayosine IDMG ทดสอบ หากเป็นสีชมพูคือผลเป็นบวกหรือมีนิกเกิล
พญ.ไพลิน พวงเพชร สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโลหะที่มีนิกเกิลโดยตรง ผู้ป่วยที่ทดสอบ patch test แล้วพบว่าแพ้โลหะนิกเกิลนั้น หากผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มใสที่มือทั้งสองข้าง ควรสังเกตว่าการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ในในปริมาณมากทำให้ผื่นเห่อหรือไม่ ได้แก่ โฮลวีท ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง ถั่วเหลือง โกโก้ กุ้ง หอย งา หรือเมล็ดทานตะวัน หากอาหารชนิดใดทำให้ผื่นเห่อ ควรเลี่ยงอาหารชนิดนั้น และไม่ควรรับประทานวิตามินที่มีนิกเกิลเป็นส่วนประกอบ แม้ว่าผื่นคันจากนิกเกิลจะไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ถือว่าเป็นภัยสุขภาพอย่างหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากการคันจากผื่นแพ้นั้นสร้างความรําคาญใจแก่ผู้ป่วย ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจ หากมีอาการผื่นผิวหนังจากการแพ้นิกเกิลขึ้น หรือมีอาการคันร่วมด้วย แนะนำว่าควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที