กรมวิทย์เผยไทยยังเจอ XBB.1.16 มากที่สุด แต่ EG.5 เริ่มพบมากขึ้น อาจเบียดตัวอื่นในอนาคต ล่าสุดพบแล้ว 23 ราย แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องรุนแรงขึ้น ส่วน HK.3 เป็นลูกหลาน EG.5 ยันไทยเจอแค่ 2 ราย ไม่ใช่ 3 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน อาการไม่รุนแรง รักษาหายดีแล้ว ยังสรุปไม่ได้แพร่เร็วขึ้นกว่าเดิม 95% เหตุข้อมูลยังน้อย ส่วน BA.2.86 ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย เป้นแค่การตรวจจากแหล่งน้ำ เอามาสรุปไม่ได้
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทยและโอมิครอน HK.3 ว่า ข้อมูลสายพันธุ์โควิด 19 จากฐานข้อมูลโลก GSAID มีการรายงานลดลง เนื่องจากมีการส่งรายงานลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทุกวันนี้ดีขึ้นมาก จึงไม่ได้มีการส่งตรวจมากเท่าก่อน เพียงแต่ตรวจเพื่อให้บอกสถานการณ์ได้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (VOI) ของโควิด 19 มี 3 ตัว คือ XBB.1.5 , XBB.1.16 ที่ระบาดในโลกนี้เยอะ และน้องใหม่ คือ EG.5 ซึ่งเกิดมาพักหนึ่งแล้ว สำหรับประเทศไทยพบว่า สายพันธุ์ XBB.1.15 มีแนวโน้มลดลงในแต่ละสัปดาห์ ส่วนที่ยังทรงๆ คือ XBB.1.16 แต่ยังเป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุดในไทย ขณะที่ BA.2.75 ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ แต่ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างชัด คือ EG.5 น่าจะเบียดตัวอื่นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเจอ EG.5 จำนวน 15 ราย ขณะนี้เจออีก 8 ราย รวมเป็น 23 ราย แม้ตจะแพร่เร็วขึ้นสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เห็นความรุนแรง ไม่ได้เป็นแล้วเสียชีวิต ข้อมูลพวกนี้ต้องรอจำนวนมากกว่านี้ เหมือนตัวอื่นก่อนหน้าที่แพร่เร็วขึ้น แต่ไม่มีผลเรื่องความรุนแรง ผู้ป่วยโควิดไม่ได้มีอาการมากมายและหายดี
ส่วนข่าวที่ว่าเจอ HK.3 นั้น จริงๆ แล้วมาจากสายพันธุ์ XBB.1.19.2.5 ซึ่งถูกรวบมาเป็นชื่อ EG.5 และเมื่อ EG.5 ออกลูกหลานจำนวนมาก มีจุดเยอะเกิน อย่าง EG.5.1.1.3 ก็รวบมาเป็นชื่อ HK.3 ดังนั้น จึงไม่ใช่สายพันธุ์ที่โผล่ขึ้นมาใหม่ มีรายงานในฐานข้อมูล GSAID แล้ว 127 ตัวอย่างจาก 12 ประเทศ ที่เยอะคือจีน 90 ราย เกาหลีใต้ 13 ราย ส่วนไทยเราเจอ 2 ราย แต่ที่มีผู้ออกมาบอกว่าเราพบ 3 รายนั้น เป็นความคลาดเคลื่อน จากการไปดูการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งแล้วสรุปว่าเป็น HK.3 ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ ยังมีแค่ 2 ราย โดยเป็นครอบครัวเดียวกัน คือ ชายอายุ 65 ปี และหญิงอายุ 11 ปี อาการไม่หนัก หายดีแล้ว ทั้งนี้ HK.3 มีการกลายพันธุ์ที่ตัวโปรตีนหนามหรือสไปก์โปรตีน ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงคือ L455F และ F456L มีข้อสันนิษฐานว่าแพร่เชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ หลบภูมิดีขึ้นหรือไม่ เกาะเซลล์ผู้ป่วยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามข้อมูลต่อไป แต่ข้อสันนิษฐานแบบนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เราจะมีการตรวจต่อไป
"ที่คนพยายามบอกว่า ภาพรวมโลก HK.3 น่าจะเร็วกว่าเดิม 66% และประเทศไทยเร็วกว่าเดิม 95% ซึ่งยังไม่น่าจะสรุปได้ว่าเร็วกว่าเดิม 95% เพราะจำนวนที่มีตอนนี้คือ 2 ราย ยังไม่มากพอ แทบจะไม่มีนัยสำคัญอะไร วิธีคือรอดู 2 สัปดาห์หน้าและถัดไปว่า HK.3 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าเร็วจริงก็จะเยอะขึ้นและเบียดตัวอื่นตกไป แต่อย่าเพิ่งสรุปว่าเร็วกว่าเดิม 95%" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนกรณี BA.2.86 ที่มีนักวิทยาศาสตร์ทีมของ ดร.Leshan เผยแพร่ออกมาว่า ไปสุ่มเอาน้ำจากแหล่งต่างๆ ของประเทศไทยมาดู พยายามหาสารพันธุกรรมในน้ำเพื่อบอกว่ามีเชื้อหรือไม่ แล้วเจอ BA.2.86 จริงๆ แล้วทั่วโลกมีการพบหลายที่รวม 21 ราย ยังไม่พบในประเทศไทย การไปตรวจแบบนี้แล้วมาสรุปว่าพบในไทยคงไม่ได้ เพราะไม่ได้ตรวจจากผู้ป่วย ซึ่งเรายังไม่เคยเจอแม้แต่รายเดียว แต่ถ้ามีผู้ป่วยในไทยก็จะโผล่มาให้เห็น ส่วนอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่อย่างไร