คลินิกพยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมคลินิกชุมชนอบอุ่น ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาเบื้องต้น ช่วยคนในชุมชนเขตหลักสี่เข้าถึง ไม่ต้องไป รพ. ครอบคลุมสิทธิบัตรทอง ช่วยนักศึกษาเรียนรู้ลงพื้นที่จริง
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นางลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน และรองคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า สปสช.เชิญชวนให้คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั่วประเทศสมัครเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อให้เกิดการบริการที่สะดวกประชาชน เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความแออัด จึงได้จัดตั้งคลินิกพยาบาลฯ ขึ้นในเขตหลักสี่ และขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เปิดให้บริการเมื่อ ก.ค.2564 นับเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่จัดตั้งโดยสถาบันการศึกษาพยาบาล ผลการดำเนินงาน 3 ปี พบว่า ประชาชนได้รับบริการพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน เกิดชมรมรักษ์สุขภาพจากการรวมตัวของผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพทุกเดือน เป็นพื้นที่ให้อาจารย์พยาบาลนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาให้บริการ เป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาในพื้นที่ บูรณาการพันธกิจทั้ง 4 ด้านของสถาบันการศึกษา คือ การเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
นางลัดดาวัลย์ กล่าวว่า การให้บริการเราทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ของ กทม. โดยหารือว่ามีช่องว่างตรงไหนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ยังดูแลไม่ทั่วถึง คลินิกพยาบาลฯ สามารถเข้าไปช่วยปิดช่องว่างหรือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่น หน่วยบริการประจำส่วนมากจะเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ ตามเวลาราชการ คลินิกพยาบาลฯ ก็สามารถรับช่วงให้บริการฉีดยา ทำแผล ฯลฯ ได้จนถึง 18.00 น. และเพิ่มวันบริการวันเสาร์และอาทิตย์ เป็นต้น มีการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งบูรณาการไปกับการเรียนการสอนในรายวิชา เป็นต้น เป็นไปตามขอบเขตบริการของ สปสช. คือ 1.สร้างเสริมสุขภาพ ให้บริการแก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ และ 2.บริการผู้ป่วยนอก เช่น ฉีดยา ทำแผล รักษาโรคเบื้องต้น ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่สิทธิบัตรทอง ไม่ว่าสิทธิจะอยู่ที่ไหน ส่วนประกันสังคมและข้าราชการยังต้องเสียเงิน แต่ก็ยินดีมารับบริการ โดยบอกว่าสะดวกกว่าไป รพ. ประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลารอคิวนาน
"ฉีดยา ทำแผล ตัดไหม หัตถการเหล่านี้ไม่ต้องไป รพ. มารับบริการที่คลินิกพยาบาลฯ ได้ จากการเก็บข้อมูลความพึงพอใจผู้รับบริการ พบว่ามีความพึงพอใจมาก อัตราเข้ามารับบริการก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอัตรากลับมารับบริการซ้ำก็เพิ่มขึ้น ภาพรวมระดับประเทศคลินิกพยาบาลฯ ส่วนมากจะตั้งอยู่ในตำบล หมู่บ้าน ให้บริการคนในชุมชนแบบญาติพี่น้อง บางแห่งเก็บค่าบริการในราคาต่ำๆ หรือไม่เก็บค่าบริการเลย เพราะพยาบาลส่วนมากที่ไปเปิดคลินิกมักจะมีงานประจำและรายได้ที่มั่นคงอยู่แล้ว เมื่อ สปสช. ดึงคลินิกพยาบาลฯ เข้าร่วมเครือข่าย ก็ทำให้เบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช.ได้ มีรายได้พอเป็นต้นทุน ทำให้บริการเข้าถึงประชาชนถึงระดับตำบลมากขึ้น" นางลัดดาวัลย์กล่าว
ด้าน น.ส.วรรณา พิศวง พยาบาลวิชาชีพประจำคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า กลุ่มบริการสร้างเสริมสุขภาพจะให้บริการ 8 อย่าง ตามข้อกำหนดของ สปสช. คือ ฝากครรภ์ที่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครรภ์เสี่ยง รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก บริการตรวจหลังคลอด ไม่เกิน 12 วันหลังคลอด บริการคุมกำเนิดเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย ไม่รวมยาฉีดคุมกำเนิด บริการตรวจการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีบริการคัดกรองประเมินสุขภาพกายสุขภาพจิตในช่วงอายุ 15-35 ปี และช่วงอายุ 35-59 ปี การป้องกันการขาด ไอโอดีน ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก การคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต จริงๆแล้วสมรรถนะวิชาชีพสามารถให้บริการคัดกรองประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน เช่น ประเมินค่า ADL เพียงแต่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ แต่ถ้ามีผู้สูงอายุมาคัดกรองก็ทำให้ได้
ส่วนกลุ่มรักษาพยาบาลเบื้องต้น ประกอบด้วยบริการทำแผล ฉีดยากรณีมีใบสั่งจากแพทย์ และบริการสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านใน 3 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความพิการร่วมด้วย โดยพยาบาลเวชปฏิบัติยังสามารถจ่ายยาได้มากกว่าพยาบาลวิชาชีพทั่วไปอีกด้วย ทั้งนี้ มีบริการหลายอย่างที่วิชาชีพพยาบาลทำได้ แต่ สปสช. เพิ่งจะเปิดให้เบิกค่าบริการได้ เช่น รักษาโรคเบื้องต้น หรือเยี่ยมบ้าน ซึ่งสามารถเยี่ยมบ้านได้ถึง 6 กลุ่มโรค แต่บทบาทของคลินิกพยาบาลฯ ที่ สปสช. กำหนดไว้ จะเยี่ยมบ้านได้ 3 กลุ่มโรค ซึ่งการเยี่ยมบ้านจะประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ที่เป็นหน่วยบริการประจำในพื้นที่