จิตแพทย์ชี้ "ฆ่ายกครัว" เป็นปัญหาซับซ้อนและสะสม จริงๆ ไม่ได้อยากตาย แต่เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ แนะสังคม คนใกล้ชิดร่วมดูแล ใช้หลัก 3 ส. ช่วยเหลือได้จะช่วยหยุดความคิดลบที่ไม่อยากมีชีวิต ห่วงสถิติคนไทยฆ่าตัวตายมากขึ้น ย้ำทุกปัญหามีทางออก ขอมองอย่างมีสติ
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีครอบครัว 4 คนพ่อแม่ลูกเจอปัญหาหนี้สินที่ไปคำประกันเงินกู้ให้คนอื่นและถูกหลอกโอนเงินสูญกว่าล้านบาท จนพ่อตัดสินใจฆ่าลูกเมียก่อนปลิดชีวิตตัวเอง แต่ตัวเองบาดเจ็บสาหัส ว่า การฆ่าตัวตายและการฆ่ายกครัวเป็นเรื่องที่เกิดจากการมีปัญหาที่ซับซ้อน กรณีหนี้สินอาจจะเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจ แต่ไม่น่าจะใช่สาเหตุทั้งหมด อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ที่ทับซ้อนกันมานาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน ปัญหาสัมพันธภาพ ปัญหาเจ็บป่วยทางจิตใจ การเจ็บป่วยทางร่างกาย การฆ่ายกครัวเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรง และเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการขอความช่วยเหลือ หรือคนใกล้ชิดพาไปช่วยเหลือ แต่ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายหรือฆ่ายกครัวถือเป็นความรุนแรง แต่ฆ่ายกครัวเป็นความรุนแรงยกกำลังสอง ปัญหาก็จะมีความรุนแรงกว่า อาจจะมีทั้งในส่วนที่วางแผนมาก่อน หรือทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ แต่ว่าจะต้องมีปัญหารุนแรงสะสมมาก่อน แล้วมีความคิดลบ ก็จะมองไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง แต่เห็นภายใต้ภาวะจิตที่บิดเบือนเพราะความหมดหวัง หรือความเครียดที่รุนแรงจึงลงมือกระทำต่อตัวเอง รวมถึงคนในครอบครัวได้ ทั้งที่จริงแล้วทุกปัญหามีทางออกเสมอ
“สิ่งสำคัญคือถ้าเขารู้ว่ามีปัญหา หรือคนใกล้เคียงรู้ว่ามีปัญหา ต้องให้เขาได้รับการช่วยเหลือ การที่เขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจะทำให้มีความคิดในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า กรณีคนที่เงียบขรึม สุขุม ใจเย็น เวลามีปัญหาอะไร คนรับข้างยังสามารถสังเกตได้ โดยใช้หลัก 3 ส. เช่นกัน คือ ส. สอดส่องมองหา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเดิม เช่นเก็บตัวมากขึ้น เริ่มบ่นถึงปัญหามากขึ้น เริ่มพูดถึงชีวิตของตัวเองที่แย่ หรือไม่มีความหวัง นี่คือความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่า เก็บตัว หรือเงียบมาเรื่อย แล้วอยู่ดีๆ ก็ฆ่าตัวตาย ดังนั้นสอดส่องมองหาคือต้องดูพฤติกรรม สัญญาณเตือนที่บอกให้เรารู้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงมาที่ ส.ใส่ใจรับฟัง และ ส.ส่งต่อเชื่อมโยง เพราะคนพวกนี้เขาจะไม่หาความช่วยเหลือเอง เขาสิ้นหวัง คือการที่ไม่รู้สึกว่ามีคนช่วย
เมื่อถามว่าอัตราฆ่าตัวตายของไทยสูงขึ้นจะมีคำแนะนำอย่างไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า การฆ่าตัวตาย และฆ่ายกครัวไม่ได้เป็นการบอกว่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่เป็นสัญญาณการขอความช่วยเหลือ หัวใจสำคัญคือต้องได้รับการช่วยเหลือ ถ้าตัวเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือเอง คนใกล้ชิดต้องดูออกและให้การช่วยเหลือ เมื่อเขาได้รับการช่วยเหลือแล้ว ความคิดที่จะฆ่าตัวเองหรือฆ่ายกครัวก็จะหมดไป ดังนั้น สังคมอาจจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนคนที่กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก อาจจะอยู่ในความคิดลบจนกระทั่งไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ให้รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่เราคิดไปจากภาวะที่เราหมดหวัง แต่ไม่ได้แปลว่าที่จริงแล้วเราไม่มีทางออก ดังนั้นต้องดูแลคนใกล้ชิดและขอความช่วยเหลือ ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ด้วยความทุ่มเทเต็มความสามารถอยู่แล้ว แต่ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะหมดไปในเวลาอันสั้น ต้องดูแลซึ่งกันและกัน และสามารถรับคำปรึกษาผ่านช่องทางต่างๆ อยากฝากการเมืองที่จะมีรัฐบาลใหม่ขอให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประชาชน และสนับสนุนให้หน่วยราชการทำงานให้เต็มความสามารถ