กรมอนามัยชู "เมืองแสนสุข" ต้นแบบสร้าง "เมืองสุขภาพดี" ผ่าน 3 แนวทาง ช่วยยกระดับเมืองท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ นายกเล็กเมืองแสนสุข ชี้ใช้ Sport Tourism ท่องเที่ยวเชิงกีฬา ดึงนักท่องเที่ยว ปรับปรุงเมืองเป็น Healthy City ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งพักหาดทุกวันอังคาร เพิ่มพื้นที่กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ปรับปรุงน้ำเสียก่อนลงทะเล
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สุงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสุขาภิบาล) กรมอนามัย กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเมืองสุขภาพดี เมืองแสนสุข ว่า กรมอนามัยขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อยกระดับเมืองสุขภาพดี ซึ่งเทศบาลเมืองแสนสุขในฐานะเมืองท่องเที่ยวก็มีการดำเนินการเรื่องนี้ จนได้รับรางวัลต้นแบบเมืองสุขภาพดี ไรับโล่เชิดชูเกียรติเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ 1.Healthy Environments สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ เช่น บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม อนามัยสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขยะ รักษาความสะอาด คัดแยกขยะ เป็นต้น
2.Healthy Setting สถานที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยเมืองท่องเที่ยวหัวใจสำคัญคือ ที่กินที่พักที่เที่ยว อย่างการขายอาหารที่สาธารณะริมทะเล ก็เป็นจุดขายเพราะเสน่ห์การนั่งกินริมทะเล แต่ก็มีจุดเสี่ยง ทั้งขัดขวางธรรมชาติที่สวยงาม มลภาวะ ขยะ และน้ำเสียปนเปื้อน ต้องจัดการให้ดี อย่างที่พักก็ทำมาตรฐานเรื่องกรีนโฮเทล ที่สำคัญคือเรื่องเครื่องปรับอากาศ เชื้อลีเจียนแนร์ที่อยู่จำนวนมากในแอร์ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ป่วยได้ หรือที่เที่ยวก็มีการทำ ส้วมมาตรฐาน HAS ซึ่งเทศบาลเมืองแสนสุขก็รับนโยบายนี้ไปปรับปรุงพัฒนา แต่ต้องเน้นย้ำว่า เป็นจุดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ต้องเน้นมีพนักงานมาช่วยดูแลทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และ 3.Healthy People ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี ก็มีการสร้างความตระหนัก ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น จัดงานวิ่ง จัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย แต่สิ่งสำคัญคือคนในเมืองท่องเที่ยวมีคน 3 ส่วน คือ คนบางแสน 4-5 แสนคน คนมาเที่ยวหลายล้านคน และประชากรแฝงแรงงาน ก็ต้องฝากดูแลสุขภาพแต่ละกลุ่มที่มีกระบวนการให้บริการต่างกัน หากยกระดับเมืองท่องเที่ยวดี ก็จะยกระดับการท่องเที่ยวไทยที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ช่วยเพิ่มและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ด้าน นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุขมีนโยบายทำเมืองสุขภาพดี Health City มาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว เราดูแลทุกกลุ่มวัย แต่ช่วงแรกเราเน้นผู้สูงอายุ เนื่องจากในพื้นที่มีสูงอายุจำนวนมาก เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนเทศบาลอื่นหลายปี ก็นำมาสู่โครงการ Smart City ดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนร่วมกับวิชาชีพด้านสุขภาพ ซึ่งเรามีคณะด้านสุขภาพใน ม.บูรพามาช่วยดูแล ทั้งคณะแพทยศาสตร์ พยาบาล สาธารณสุขศาสตร์ สหเวชศาสตร์ แพทย์แผนไทย ที่สำคัญคือเราได้รับทุนจากองค์กรไจก้าทำมาร่วม 5 ปี มีการส่ง อสม.ไปดูงานฝึกการดูแลสูงอายุถึงญี่ปุ่น ส่งบุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ด้านสุขภาพ นักกายภาพบำบัดไปอบรมที่ญี่ปุ่น กลับมาต่อยอด ดูแล ซึ่งโครงการที่เราทำร่วมกับไจก้าติด 1 ใน 10 โครงการที่สำเร็จจากที่ไจก้าไปสนับสนุนมาทั่วโลก ซึ่งจะมีการไปสรุปผลงานที่ญี่ปุ่นเดือนหน้า รวมถึงยังร่วมกับกรมอนามัยจัด Health Festival มหกรรมแสนสุขรวมพลเพื่อสุขภาพ แต่ละปีมีธีมต่างๆ กันไป อย่างปีที่แล้วเน้นเบาหวาน ปีนี้เน้นเรื่องของทางสมอง เป็นการสนับสนุนให้คนในเมืองกระตือรือร้นดูแลสุขภาพ เป็นการใช้งบประมาณสร้างการตื่นตัวให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพ ที่สำคัญคือมีการใช้เทคโนโลยีมาดูแลเรื่องสุขภาพด้วย มาดูแลเรื่อง Smart Living เช่น สร้อยคอหรืออุปกรณ์สร้อยคอมือเตือนภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
"คนส่วนใหญ่จะป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เบาหวาน ความดัน เราพยายามลดตรงนี้ ตจึงส่งเสริมการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาะ เรื่องอาหาร ดูแลทุกวัย แต่เน้นผู้สูงอายุก่อน แต่ระยะยาวก็ต้องเน้น Healthy City ไม่ได้หยุดแค่ในชุมชน เพราะเราเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงใช้นโยบาย Sport Tourism เป็นท่องเที่ยวเชิงกีฬา เราทดลองทำเช่น งานบางแสน 21 งานวิ่ง 21 กิโล 7-8 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเรามีการโปรโมต ตอนเช้าที่ชายหาดวันหยุดมีนักวิ่งนักปั่นจำนวนมาก งานวิ่งเรามีชื่อเสียงระดับโลกระดับ Platinum ทำให้กระแสการออกกำลังกาย คนในท้องถิ่น อสม. มาเดินระยะ 5 กิโล ก็กระตุ้นด้านเศรษฐกิจ อย่างงานวิ่ง 1 งาน มีนักวิ่ง 1.2 - 1.5 หมื่นคน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ 60 ล้านบาท เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนออกกำลังกาย เพิ่มห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก แสงสว่าง ปรับถนน เป็นต้น สนามวิ่งที่ใช้ได้รับมาตรฐานโลก ไปด้วยกันกับ Healthy City" นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ มีการปรับภูมิทัศน์ชายหาดบางแสนให้เหมาะสมกับการออกกำลังกาย ให้มีวันหยุดชายหาดในวันอังคาร จะไม่มีผู้ค้าเลย วันเดียวที่หาดโล่ง และเป็นเหมือนลานเอนกประสงค์ให้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น มาออกกำลังกาย รำไทเก๊ก ซ้อมวิ่ง ดริปกาแฟ แต่เราก็ต้องจัดระเบียบ ช่าวงแรกได้รับการต่อต้านบ้าง แต่ก็อยู่ตัวแล้ว สมัยก่อนชายหาดบางแสนจะเป็นชายหาดของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ของประชาชนนักท่องเที่ยว เราก็มาดูแลตรงนี้ และมีการทำ Big Cleaning สัปดาห์ละหนึ่งวัน ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงเพื่อให้น้ำลงสู่ทะเลมีสภาพที่ดียิ่งขึ้น มีการสุ่มตรวจฟอร์มาลีนในอาหาร ตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลว่ามีสภาพอย่างไร