xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือน "กระดูกพรุน" ภัยเงียบ ห่วงคนแห่กิน "คอลลาเจน" ชี้ไม่มีกรดอะมิโนช่วยป้องกันกล้ามเนื้อลีบ ย้ำดื่มนมได้แคลเซียมเพียงพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอออร์โธฯ ชี้กระดูกพรุนภัยเงียบ ป้องกันดีกว่ารักษา ย้ำดื่มนมช่วยได้แคลเซียมเพียงพอ ดูดซึมง่ายกว่ากระดูกปลาและธัญพืช พ่วงออกกำลังกายเหมาะสมกระตุ้นสร้างมวลกระดูก ห่วงคนแห่กิน "คอลลาเจน" ย้ำเป็นโปรตีนไม่มีประโยชน์ เหตุไม่มีกรดอะมิโนช่วยป้องกันกล้ามเนื้อลีบ แต่อาจทำไตพัง ส่วนรักษากระดูกพรุนมียา Prolia ย้ำใช้เฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ ต้องตรวจร่างกายก่อน เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล ที่ปรึกษาภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โรรคกระดูกพรุนเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่มาพร้อมกับความชรา จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการเกิภาวะกระดูกเปราะบางจนเสี่ยงต่อการแตกหัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต ทั้งนี้ จากการนำทีมลงพื้นที่สำรวจชุมชนเขตบางกอกน้อย และชุมชนละแวกเดียวกัน พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 มีความรู้พอสมควรเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง จนสามารถแนะนำบุคคลในครอบครัว และบุคคลรอบข้างได้ประมาณร้อยละ 15 ซึ่งโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้ได้ประมาณ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยควรพิจารณาจากแหล่งอาหารประเภท "นม" เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารแคลเซียมที่ดีที่สุด มีองค์ประกอบของกลุ่มโปรตีน "เคซีน" ที่ง่ายต่อการดูดซึม

"ขณะที่การรับประทานกระดูกปลา ซึ่งอุดมไปด้วยฟอสฟอรัส แต่ดูดซึมได้ยากกว่า และการรับประทานธัญพืช ซึ่งอุดมไปด้วยผลึกแคลเซียมออกซาเลทและไฟเตท ก็ดูดซึมได้ยากกว่าเช่นกัน แต่การดื่มนมให้ได้ 1 - 1.5 ลิตร หรือเนยแข็งประมาณ 2 แผ่น จะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรับประทานแคลเซียมสังเคราะห์" ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ควรเสริมด้วยการรับประทานวิตามินดี พร้อมให้ร่างกายได้รับแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 14.00 น. อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายใน 3 ประเภท โดย "วิตามินดี 2" เป็นวิตามินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1 - 1.50 บาท รับประทานเพียงสัปดาห์ละ 1 เม็ด (20,000 ยูนิต) จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย นอกเหนือไปจาก "วิตามินดี 3" และ "วิตามินดีแอคทีฟ" ซึ่งมีราคาสูงกว่านับ 10 เท่า รวมถึงควรเสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งในผู้สูงวัยควรออกกำลังกายด้วยท่าที่ไม่รุนแรงจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจทำอันตรายต่อระบบเอ็น กระดูก โดยทั่วไปใช้หลักการบริหารโดยการเกร็งกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหว เช่น นั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นเกร็งไว้ เพื่อสร้างแรงกระทำต่อบริเวณขาและต้นขา ให้เกิดการสร้างกระดูกที่ดี บริหารในส่วนคอ ด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อคอ โดยใช้มือดันศีรษะแล้วเกร็งกล้ามเนื้อคอสู้แรงมือ หรือจะนั่งตัวตรงแล้วใช้มือสอดเข้าไปตรงบริเวณปกหลังแล้วออกแรงดัน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง โดยไม่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว

สำหรับการบริหารร่างกายอีกแบบ คือ Eccentric Exercises ฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหดตัว ในขณะที่ถูกยืดออก เพื่อให้มีแรงส่งผ่านไปยังกระดูก และคอยกระตุ้นทำให้กระดูกแข็งแรง ระหว่างการก้มหน้าขึ้น-ลง และหันคอซ้าย-ขวาอย่างช้าๆ และอีกวิธีการบริหารแบบ Eccentric Exercises ที่สามารถฝึกได้โดยการยืนหลังเก้าอี้ แล้วใช้มือจับส่วนบนของเก้าอี้ ก่อนย่อตัวลงโดยงอเข่าให้ได้ 90 องศา เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อข้อ แล้วให้พยายามยืนขึ้นช้าๆ ซึ่งเป็นท่าการออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนัก และเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูกและป้องกัน "ภาวะกล้ามเนื้อลีบ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย

ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ กล่าวว่า กรดอะมิโนที่ป้องกันกล้ามเนื้อลีบหรือการสลายของกล้ามเนื้อ คือ "วาลีน" และ "ลิวซีน" ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในนมและไข่ แต่ปัจจุบันมักพบว่ามีการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน จากการรับประทานโปรตีนมากเกินไป รวมทั้งอาหารโปรตีนที่ไม่มีประโยชน์ เช่น "คอลลาเจน" ซึ่งหาได้โดยทั่วไป แต่ยังไม่มีการรับรองจาก อย. เป็นการรับประทานโปรตีนที่ไม่มีคุณภาพ โดยขาดกรดอะมิโนวาลีนและลิวซีน ที่จะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้นพบรายงานว่า จะส่งผลทำให้ไตทำงานมากขึ้นจนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าเสี่ยงต่อกระดูกหักสูง จะพิจารณาให้ยาต้านการสลายตัวของกระดูก หรือยาต้านโรคกระดูกพรุน (Prolia) ซึ่งตามข้อแนะนำของบัญชียาหลักแห่งชาติ จะต้องเริ่มจากยากิน ยกเว้นมีข้อห้ามในการใช้ยากิน จากการพบอาการไตทำงานผิดปกติ และภาวะกระดูกพรุนที่รุนแรง จึงจะพิจารณาใช้ยาฉีด ซึ่ง Prolia นอกจากเป็นยาต้านการสลายตัวของกระดูก มีข้อมูลบางส่วนว่าสามารถกระตุ้นการสร้างกระดูกได้ แต่ย้ำว่าการใช้ยา Prolia จะพิจารณาใช้เฉพาะกรณีผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีอาการแพ้ เหงือกกรามอักเสบได้ นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดดูการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อหัวใจและสมอง ดูระดับวิตามินดี โดยแพทย์จะพิจารณาฉีด Prolia เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนให้กับผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีที่สูงกว่า 30 ไมโครกรัม กำหนดฉีด 1 เข็ม ในทุก 6 เดือน และเจาะเลือดติดตามผลความคืบหน้าการทำงานของกระดูกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ และตรวจความหนาแน่นของกระดูกเมื่อครบ 2 ปี หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะได้ตรวจอีกครั้งในอีก 2 ปี หลังจากนี้ จะหยุดตรวจเพื่อให้กระดูกได้ปรับตัว ก่อนนัดประเมินอีกครั้ง

"การรักษาโรคกระดูกพรุนเป็นการรักษาตามอาการ ทางที่ดีที่สุดควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม - วิตามินดี - ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม" ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น