สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน พร้อม 3 วิชาชีพ ทั้งพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ จ่อขอเข้าพบ รมว.สธ.คนใหม่ทันที หากยืนยันรายชื่อ รมต.ชัดเจน เสนอทางออกแก้ปัญหาภาระงานบุคลากร กำหนดชั่วโมงการทำงาน ส่วนแนวทางแก้ที่ สธ.หารือ ก.พ.ยังไม่ตอบโจทย์ ขณะที่ 1 จังหวัด 1 รพ.ก็ไม่ช่วย หากจังหวัดขาดแคลนแพทย์ ก็หมุนเวียนยาก
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวถึงการเตรียมพร้อมข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่กรณีการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาทางสหภาพฯ เคยเข้าพบและหารือกับทางพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุข พบว่า มีเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอของสหภาพฯ ดังนั้น จึงคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นความสำคัญเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการยืนยันรายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นท่านใดมาดำรงตำแหน่ง ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานจะขอเข้าหารือกับทางพรรคฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนใหม่อย่างแน่นอน
ถามว่า ยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิมเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ลดภาระงานล้นใช่หรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ใช่ แต่เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง เพราะที่สำคัญเราต้องการหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบสาธารณสุขให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ทางสหภาพฯ จะเตรียมข้อมูลเพื่อขอเข้าพบกับทางพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่ โดยจะไปพร้อมกับวิชาชีพอื่นๆ เนื่องจากปัญหาภาระงานในระบบสาธารณสุขไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น เบื้องต้นขณะนี้มีวิชาชีพที่แสดงความประสงค์เข้าหารือร่วมกัน อาทิ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์
“จริงๆวิชาชีพอื่นๆหากสนใจสามารถประสานเข้ามาได้ ทางเราก็มีการสอบถามอยู่ อย่างล่าสุดเคยพูดคุยกับทางสหภาพลูกจ้างฯ เกี่ยวกับปัญหาและทางออกเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่ เนื่องจากลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข ก็ประสบปัญหาสวัสดิการการจ้างงานเช่นกัน” ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ผ่านมา ครม.รับทราบผลการหารือระหว่าง สธ.และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ยังไม่ตอบโจทย์จริงๆ เพราะจากการติดตามข่าวพบว่า เน้นไปที่การบรรจุแพทย์ใหม่ แต่ยังไม่มีแนวทางตรงไหนที่ชัดเจนถึงการรักษาหรือการคงแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขอยู่ในระบบมากที่สุด แต่แนวทางของกระทรวงฯและก.พ. จะเป็นเหมือนการเติมบุคลากรขาเข้ามากกว่า แต่ยังไม่เห็นถึงแนวทางชัดเจนว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบสาธารณสุขจริงๆ เพราะสุดท้ายการเติมคนเข้ามา อยู่ไม่ได้ก็ต้องลาออกอยู่ดี
“ในเรื่องของกรอบอัตรากำลังนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพียงแต่อย่างเดียวไม่ได้ และเราคาดหวังว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดอัตรากำลังได้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดตามกรอบความเป็นจริง ตรงกับภาระงานจริงๆ หากเป็นไปได้การแยกตัวออกจาก ก.พ.ก็เป็นอีกวิธีที่ควรทำ” พญ.ชุตินาถ กล่าว
เมื่อถามว่าก่อนจะมีรัฐมนตรีสธ.คนใหม่ ทางสหภาพฯ จะเข้าหารือร่วมกับคณะทำงานร่วมของ สธ. และ ก.พ. หรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า หากเป็นไปได้ อยากให้ทางคณะทำงานชุดนี้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ปัญหาต่างๆว่า เอามาจากแนวคิดไหน หรือมีผลการศึกษาใดรองรับว่า ใช้วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาบุคลากรได้จริงๆ เพื่อจะได้หารือร่วมกันว่า จริงหรือไม่ อยากให้มีการเชิญผู้แทนคนทำงานเข้าร่วมในคณะทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสหภาพฯ ก็ได้ เพราะหากได้หารือร่วมกันก็จะได้รู้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน ปัญหาคือ แม้จะมีการเติมแพทย์เข้าระบบ แต่เมื่อจบมาก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องลาออก ซึ่งจริงๆไม่ใช่ทุกคนอยากลาออก แต่จำใจต้องไป เพราะภาระงาน ทั้งๆที่เรื่องนี้จัดการได้ทันทีด้วยการประกาศ ลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ สามารถประกาศได้เลย
เมื่อถามว่า สธ.มีนโยบาย “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) ในการหมุนเวียน หรือกระจายแพทย์ในจังหวัดเพื่อช่วยเหลือรพ.ที่แพทย์ไม่พอ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะถ้าทั้งจังหวัดขาดแพทย์อยู่แล้ว อย่างขาดเป็นหลักสิบ ต่อให้หมุนหลักหน่วยไปตามรพ.ต่างๆ สุดท้ายย้ายไป รพ.หนึ่ง แต่อีกรพ.ก็จะขาดแคลนอยู่ดี ปัญหาในบางแห่ง มีชื่อแพทย์ช่วยราชการ แต่หาคนมาไม่ได้ก็มี