พบเด็กไทย 1 ใน 4 พัฒนาการล่าช้า กระทบสมอง เสี่ยงซึมเศร้า ซ้ำอ้วน เตี้ย จากพฤติกรรมการกิน และกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สสส. สานพลังภาคี ผุดนวัตกรรมคู่มือ “สามเหลี่ยมสมดุล" วิ่งเล่น กินดี นอนพอ สร้างสุขภาพที่ดีเยาวชน ขยายผลใช้ 43 โรงเรียนในสังกัด กทม. สช. มท.
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม กทม. นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2565 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เด็กไทย 25% หรือ 1 ใน 4 มีพัฒนาการไม่สมวัย มีผลกระทบต่อสมอง ร่างกายผอม-อ้วนเกิน และจิตใจอย่างซึมเศร้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง จากเดิม 24.4% ในปี 2562 เหลือ 17.7% ในปี 2565 หรือเทียบเท่าเด็กไทย 3 ใน 4 คนมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน พัฒนานวัตกรรม “สามเหลี่ยมสมดุล” คู่มือสำหรับดูแลเด็ก 6-12 ปี ทั้งในบ้านและโรงเรียน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน 1.การนอนหลับ 2.การกิน 3.การเล่นหรือการขยับร่างกายที่เหมาะสม 3 สิ่งนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพกายใจของเด็ก
“แคมเปญสามเหลี่ยมสมดุล ได้นำไปใช้ขยายผล ผ่านการจัดกิจกรรมห้องเรียนสร้างเด็กสมดุลใน 4 ภูมิภาค พร้อมขยายผลใน 43 โรงเรียนทั่วประเทศ มีผู้ปกครอง คุณครูเข้าร่วมกิจกรรม 282 คน สำหรับปี 2567 มุ่งส่งต่อแคมเปญนี้ผ่านการจัดค่ายปิดเทอมเด็ก ห้องเรียนพ่อแม่ คาราวานสัญจรร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รวมถึงโปรแกรมช่วยบันทึกพัฒนาการคุณหนู ผ่านแอปพลิเคชัน Persona Health ทั้งนี้ ติดตามสื่อการเรียนรู้และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่https://resourcecenter.thaihealth.or.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) Line@เครือข่ายพันธมิตร และ www.childimpact.co” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า เด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 15.5% ขณะที่ผอม 5.5% และเตี้ย 3.2% สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมด้านอาหารและโภชนาการที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ กินผัก ผลไม้ไม่เพียงพอถึง 72% กินขนมกรุบกรอบมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ กว่า 50% และดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 71.3% ซึ่งเกิดจากผู้ใหญ่ขาดเครื่องมือในการสร้างเด็กให้มีความฉลาดรอบรู้ด้านโภชนาการ และไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ นวัตกรรม “สามเหลี่ยมสมดุล” เป็นการสร้างระบบและกลไกให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สู่บ้าน และชุมชน ช่วยให้เด็กเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผอ.ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า มิติด้านการเล่น จากการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมพบว่า เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับภาวะการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ แต่กลับมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอและพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน โดยร้อยละของเด็กและเยาวชนไทยที่มีกิจกรรมทางกาย วิ่งเล่น ออกแรงเคลื่อนไหวที่เพียงพอ ปี 2565 ลดเหลือเพียง 16% น้อยกว่าในปี 2564 ที่อยู่ที่ 24% และใกล้เคียงกับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 17% ขณะที่ร้อยละของเด็กและเยาวชนที่ใช้หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ในวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิงไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็ลดลงจาก 26% มาอยู่ที่ 15% เท่านั้น สะท้อนว่าวิถีชีวิตเด็กและเยาวชนมีความไม่สมดุล และต้องการการสนับสนุนจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชนอย่างใกล้ชิด
ดร.เจษฎา อานิล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า เด็กที่นอนน้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน สมองจะมีพัฒนาการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ สติปัญญา และสุขภาพจิต เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันที่นอน 9 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อวัน นอกจากนี้ภาวะนอนน้อยในเด็กยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น พัฒนาการของเด็กนอกจากต้องกินดี มีประโยชน์ วิ่งเล่นอย่างเหมาะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน การนอนให้พอ เป็นกุญแจสู่พัฒนาการที่ดี สร้างเด็กสมดุล