โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้พบแค่ในสุนัขเท่านั้น แต่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ลิง หนู กระต่าย เป็นต้น สถิติผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคเรบีส์ของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนหนึ่ง เกิดได้จากการถูกสุนัขกัด แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนภายหลังถูกกัด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 0 ภายในปี 2030 ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมของประชาชนเพื่อดำเนินการสื่อสารให้เกิดความตระหนักรู้อันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล และสัตวแพทย์หญิงนรีรัตน์ สังขะไชย และคณาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ และนางสาวธีรวรรณ มิ่งบัวหลวง ร่วมดำเนินการวิจัย “โครงการศึกษาประเด็นสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่เสี่ยง” ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเชิงนโยบายและเป็นผู้ให้ทุนวิจัย เพื่อให้ได้งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำผลไปใช้ได้จริง ทีมวิจัยจึงได้เลือกพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญและส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังเป็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการประชาสัมพันธ์ต่อไปได้ในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือทางสังคม Empathy Map ซึ่งเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ สำหรับการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม ใช้ในการสำรวจข้อมูลเพื่อให้เข้าใจข้อมูลเชิงลึก (insight) จากกลุ่มตัวอย่าง เพื่อศึกษาความคิดเห็นและความรู้สึก ให้เข้าใจวิถีชีวิต โดยคณาจารย์และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียจะลงพื้นที่คู่กับคณาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการพูดคุยและตอบคำถามจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ถูกกัดแล้วไปรับการฉีดวัคซีนหลังการถูกกัด กลุ่มที่ถูกกัดแล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีน และกลุ่มที่ไม่เคยถูกกัดมาก่อน แล้วถ้าวันหนึ่งถูกกัดจะมีแนวโน้มในการตัดสินใจอย่างไร ซึ่งการลงพื้นที่เป็นการทำงานด้วยแนวคิดกลมกลืนกับชุมชน เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชน รวมทั้งการให้ความรู้แก่ชาวบ้านจากคณาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากสัตวแพทย์ไปด้วย
ผลจากการลงพื้นที่ของคณะนักวิจัย พบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัด แบ่งได้ 3 Personas ได้แก่ Positive trend คือกลุ่มที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อรับการฉีดวัคซีนครบโดส แม้ว่าจะเป็นแผลเพียงเล็กน้อยก็ตาม Neutral trend คือกลุ่มที่จะไปโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการถูกกัดมาก และกลุ่มสุดท้าย Negative trend คือ ไม่ไปโรงพยาบาลเลยหรือมีแนวโน้มที่จะได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และกลุ่มที่มีความเข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงของตนได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอแล้ว อีกทั้ง ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ที่เคยได้รับการถ่ายทอดส่งต่อกันมา อาจเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน คณะผู้วิจัยจึงอยากให้ประชาชนได้ปรึกษาและพูดคุยกับสัตวแพทย์ หรือหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการดูแลเพื่อป้องกันตนเอง ครอบครัว และสัตว์เลี้ยงของตนได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการนำข้อมูลทั้งหมดถอดบทเรียน จัดทำข้อแนะนำเชิงนโยบายทางด้านสังคมศาสตร์ในการวางแผนวิธีการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มคนทั้ง 3 Personas เพื่อนำเสนอต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นในกลุ่มคนที่ถูกกัดให้เข้าใจและตระหนักก่อน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมนำเสนอแนวทางการทำสื่อประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบให้เหมาะกับทุกกลุ่ม เช่น การใช้สื่อดั้งเดิมเช่น แผ่นพับ หรือเสียงตามสายกับผู้สูงวัย การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์กับคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงแนวทางการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับกลุ่มวัยนั้นๆ เช่น วัยเด็กที่จะเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรมที่โรงเรียน จากนั้น นำผลที่ได้มาต่อยอดโครงการวิจัยในขั้นถัดไป เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในวงกว้าง เพราะการปลูกฝังให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ประกอบกับการเน้นย้ำการให้ความสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแลตนเองหากถูกสัตว์กัดขั้นพื้นฐานต่อไป