xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ย้ำแนวทางพัฒนา Service Plan อย่ายึดติดกรอบขนาด รพ. เน้นรองรับคนพื้นที่ ใช้เงินบำรุงลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.ย้ำพัฒนา Servise Palne อย่ายึดติดกรอบขนาด รพ. หากมีศักยภาพให้ทำเลย เน้นตอบโจทย์บริการประชาชน ลดปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ใช้เงินบำรุงที่มีพัฒนาปี 67 วางไว้ 2 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปีงบประมาณ 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ "ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ตอนหนึ่ง ว่า รพ.ใน สธ. มีการพัฒนา ยกระดับเป็นอย่างดี แต่ไปดูหลายแห่งควรดีกว่านี้ จึงเกิดคำถามว่า ติดกับดักอะไร มารู้ว่า อย่างเดิมเราแบ่งระดับ รพ.ใน สธ.เป็น 4 ระดับ คือ F : Fundamental , M : Middle , S : Standard และ A : Advance เราปรับระดับตามจำนวนเตียงและศักยภาพการดูแลผู้ป่วย ทำให้ รพ.หลายแห่งที่มีศักยภาพพัฒนา แต่ทำไม่ได้เพราะติดกรอบขนาดเหล่านี้อยู่ ตนจึงบอกว่า หากจะยกระดับบริการ ขนาด รพ.เหล่านี้ให้พักไว้ก่อน และให้ไปประเมินว่า หาก รพ.มีศักยภาพพัฒนาก็ทำไปเลย อย่าไปยึดติดกับกรอบมากนัก ส่วนค่า FTE ที่เป็นกรอบอัตรากำลังของ รพ.แต่ละขนาด ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ค่า FTE คิดมา 10 ปีที่แล้วก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

"ปัจจุบัน รพ.ระดับ 7 ของเราไม่มีแล้ว ตอนนี้เงินบำรุงหลังโควิดมีอยู่ 1.2 แสนล้านบาท หักหนี้สินต่างๆเหลือเงินลงทุนอีก 7 หมื่นล้าน จะไปคิดตามกรอบเดิมทำไม ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัจจุบันเพื่อประโยชน์ประชาชน หากเป็นกติกาที่เรากำหนดเองได้ เราย่อมทำได้เพื่อประชาชน เพราะพวกเขาต้องการบริการมากขึ้น ต้องจัดบริการรองรับ อย่างบางพื้นที่เน้นไพรมารีเฮลธ์แคร์ก็ทำได้ แต่บางพื้นที่ต้องมีการแพทย์ขั้นสูง ตรวจหัวใจก็ต้องจัดบริการที่ตอบโจทย์จริงๆ" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาสกล่าวว่า ดังนั้น กรอบยังใช้ได้ แต่หาก รพ.ไหนมีศักยภาพให้ดำเนินการ โดยจากนี้ปรับระดับรพ. เป็น 3 ระดับ คือ SAP โดย S : Standard รพ.แบบมาตรฐาน โดยทุก รพ.ต้องมีมาตรฐานก่อน A : Academy สธ.มีศักยภาพผลิตพัฒนาบุคลากรได้ โดยเรามีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาถึง 37 แห่ง เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต และ P : Premium/Professional ซึ่งจะขอสรุปคำอีกครั้ง โดย P จะเป็นการยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น ดังนั้น การจะพัฒนาระบบเซอร์วิสแพลนให้ดียิ่งขึ้น จากเดิม 10 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาตลอดจะต้องทำอย่างไร สิ่งสำคัญต้องตอบโจทย์ประชาชน และลดปัญหาสุขภาพที่เกิดกับประชาชน ซึ่ง 3 อันดับแรก คือ อุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่ง รพ.หลายแห่งดำเนินการสิ่งเหล่านี้มาตลอด ในปีต่อไปจะยิ่งเจาะลึกและทำให้ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันเรามีเซอร์วิสแพลนหัวข้อหลักๆ ถึง 19 สาขา

นอกจากนี้ จากเงินบำรุงที่เพิ่มขึ้น เราสามารถนำมาพัฒนางานบริการต่างๆ ได้ ตอนนี้มีเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท เมื่อต้นปีงบประมาณ 2566 เคยบอกว่า ปีนี้จะให้ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ตัวเลขสะสมอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งการสร้างบ้านพักพยาบาลประมาณ 10,000 ยูนิต และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมถึงการปรับโฉม รพ. ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และปี 2567 มีงบลงทุนภาพรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จึงตั้งเป้าให้ทุก รพ. ใช้เงินบำรุงไปลงทุนพัฒนา รพ.ของตนเอง โดยไปหารือร่วมกันในระดับจังหวัดระดับเขตสุขภาพว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เน้นพัฒนาศักยภาพ รพ.ของตัวเองให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น อย่างปรับปรุงห้องผ่าตัด ส่องกล้อง ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ ระบบไอที เป็นต้น


ถามว่างบลงทุนคือให้ทุก รพ.ดำเนินการใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ โดยให้แต่ละแห่ง ซึ่งมีเงินบำรุงอยู่แล้ว ไปพิจารณาว่า ต้องมีการพัฒนาศักยภาพอย่างไร หารือร่วมกันกับจังหวัด กับทางเขตสุขภาพ เน้นตอบโจทย์ประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อถามอีกว่าเงินบำรุงต้องใช้หนี้ก่อนใช่หรือไม่ จึงจะนำมาลงทุนยกระดับศักยภาพ นพ.โอภาส กล่าวว่า หนี้มีทั้งหนี้ใหม่และหนี้เก่า โดยหนี้เก่าจ่ายให้หมด เมื่อมีหนี้ใหม่มาก็จ่ายตามวงรอบ แต่เรื่องหนี้สินมีปัญหาน้อย ส่วนใหญ่จ่ายไปตั้งแต่ปี 2565

ถามว่าการลงทุนเพิ่มศักยภาพหมายรวมถึงการสร้าง รพ.ทันตกรรมด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ แต่การสร้างรพ.ทันตกรรม หากงบประมาณไม่เพียงพอ แต่มีศักยภาพในการสร้าง และตอบโจทย์ประชาชนก็ต้องไปหางบประมาณเติมลงไป เมื่อถามว่า สธ.จะหารือร่วม สปสช.ในการจัดหางบฯรองรับภารกิจ รพ.ทันตกรรม นพ.โอภาส กล่าวว่า กำลังหารืออยู่ อยู่ในคณะทำงานพิจารณา แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหา และไม่เป็นภาระงบประมาณกระทรวงฯมากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น