สปสช. เผยสิทธิตรวจยีน "มะเร็งเต้านม" กลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูง ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ ปี 66 คัดกรองแล้ว 420 คน เตรียมฝึกอบรมแพทย์ที่สนใจ ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วย เพิ่มศักยภาพให้บริการก่อนและหลังคัดกรอง ลงทะเบียนได้ถึง 5 ก.ย. นี้
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง บอร์ด สปสช.เพิ่มบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2564 ในคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 ยังคงดำเนินการสิทธิประโยชน์นี้ต่อเนื่อง ผู้ที่ได้รับสิทธิ คือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตามเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ 1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี 2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือ มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
3.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก , มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม , มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก และ 4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุ ที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
"ข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 ส.ค. 2566 มีผู้ที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองยีนโรคมะเร็งเต้านมทั่วประเทศ 420 คน โดย กทม. มีผู้รับบริการมากที่สุด 197 คน รองลงมาเป็นเขต 9 นครราชสีมา และเขต 10 อุบลราชธานี เขตละ 55 คน เขต 8 อุดรธานี 54 คน และเขต 4 สระบุรี 22 คน ตรงนี้ถือเป็นการให้บริการในช่วงของแรก ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 2566 ทำให้มีผู้รับบริการไม่มาก ต้องย้ำว่าการคัดกรองนี้เป็นสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ หากเข้าหลักเกณฑ์ไม่ว่าจะมีสิทธิรักษาใด สามารถรับบริการได้ หากหน่วยบริการพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก็ให้บริการได้ โดยเบิกจ่ายจาก สปสช." รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภายหลังตรวจคัดกรอง กรณีพบมีภาวะกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยใช้สิทธิของผู้ป่วย ซึ่งกองทุนบัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์ดูแล ส่วนแนวทางการลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านม มีทั้งผ่าตัดและใช้ยาป้องกัน ซึ่งวิธีการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างและการกินยาต้านฮอร์โมนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำประกอบกับสภาวะจิตใจและการติดสินใจของผู้ป่วย ส่วนการเพิ่มศักยภาพให้บริการตรวจคัดกรองยีนโรคมะเร็งเต้านมให้หน่วยบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์เต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรม "Genetic counseling for Physician" เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษา และดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการตรวจ จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ทั้ง online และ onsite ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดให้แพทย์ที่สนใจเข้ารับฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนผ่าน https://forms.gle/yDpmQCzi81yGhYkV8 จำกัดเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าถึงวันที่ 5 ก.ย. 2566