กรมควบคุมโรค เผยสอบสวนโรคผู้ป่วย "ฝีดาษวานร" ทำได้ยาก ติดตามกลุ่มเสี่ยงไม่เจอ เหตุบางรายพบกันผ่านแอปฯ หาคู่ มีเซ็กซ์แบบ One Night Stand แถมปิดบังตัวตน จี้ผู้พัฒนาแอปฯ ควรมีระบบตรวจสอบย้อนหลัง
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในไทยที่พบสูงขึ้น ว่า จากการสอบสวนโรคพบว่า ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมทางเพศที่มาจากการนัดพบกันผ่านแอปพลิเคชันนัดพบ/หาคู่ จึงเป็นความเสี่ยงว่าอาจจะติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักกัน แล้วเมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใดรายหนึ่ง ก็ไม่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ เพราะเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม ก็ยกเลิกบัญชีผู้ใช้งานไปแล้ว ทำให้สอบสวนโรคทำได้ยากขึ้น หรือบางรายมีเพศสัมพันธ์แบบ One Night Stand จากการสอบสวนโรค พบว่า บางรายเปลี่ยนคู่นอนทุกวันโดยไม่รู้จักชื่อกันด้วยซ้ำ หลายคนก็ปิดบังตัวตนจริงในการใช้งานแอปฯ ซึ่งเป็นความน่ากังวลว่า การติดเชื้อฝีดาษวานรจะเริ่มเหมือนเทรนด์ของโรคเอดส์ ที่เริ่มจากคนกลุ่มหนึ่ง แล้วกระจายไปกลุ่มอื่นๆ
"กรณีโรคฝีดาษวานรเริ่มพบในกลุ่มชายรักชาย แม้จะมีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษวานรได้ เพราะตุ่มฝีเกิดขึ้นตามร่างกาย หากไปสัมผัสก็รับเชื้อได้แล้ว หากไปมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มรสนิยมทางเพศแบบ Bisexual เชื้อก็จะแพร่ไปในกลุ่มผู้หญิง และมีความเสี่ยงกระจายไปกลุ่มอื่นๆ ด้วย" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า แอปฯ หาคู่นัดพบ จริงๆ ควรจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้พัฒนาแอปฯ แต่เข้าใจว่า การที่คนไปนัดพบกันผ่านแอปฯ ก็เป็นการตัดสินใจของผู้ใช้งานรายนั้นๆ เกิดจากการที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจของแต่ละบุคคล แต่หากจะให้เกิดประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค แอปฯ ควรจะมีการให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้สามารถติดตามตัวบุคคลนั้นๆ ได้ ดังนั้น สิ่งที่เน้นย้ำตลอดคือ การมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จริงๆ แล้ว ควรจะต้องทำความรู้จักกันมาก่อน เพื่อให้รู้ว่าเขาคือใคร ทำอาชีพอะไร พักอาศัยที่ไหน รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ เพื่ออย่างน้อยๆ ก็สามารถติดตามตัวได้