xs
xsm
sm
md
lg

สธ.กำหนด "นักสาธารณสุข" เป็นสายวิชาชีพแล้ว ลุ้น ต.ค.เข้าระบบ ก.พ. สภาฯ ชงปรับเลข จ เดิมกลุ่มมีใบประกอบวิชาชีพฯ ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ทำหนังสือวันที่ 21 ส.ค. กำหนดชื่อตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" เป็นสายวิชาชีพในกระทรวงแล้ว สภาการสาธารณสุขฯ ขอปรับเลข จ.เดิมของ "นักวิชาการสาธารณสุข" ที่คุณสมบัติพร้อม มีใบประกอบวิชาชีพ เข้าสู่ตำแหน่งก่อน คาดมีประมาณ 2.6 หมื่นคน ลุ้น ต.ค.อาจบรรจุเข้าระบบ ก.พ. ส่วนที่เหลือต้องรอสอบใบประกอบวิชาชีพ ด้านการผลิตยังเพียงพอ แต่คนในระบบน้อยกว่าภาระงาน เสนอ รพ.สต.ควรมีอย่างน้อย 5-7 คน

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการกำหนดตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" ว่า มีหนังสือเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดชื่อตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" เป็นสายวิชาชีพอยู่ใน สธ.แล้ว ส่วนกรอบตำแหน่งสภาการสาธารณสุขชุมชนได้ส่งการทำกรอบให้แก่กองบริหารทรัพยากรบุคคล (บค.) สธ.ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ตอนนี้ก็คงรอว่าจะมีการบรรจุหรือพูดคุยกันเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร แต่เบื้องต้นเราเตรียมที่จะหารือกับกรมกองต่างๆ ที่จะจัดคนลงตำแหน่ง โดยขอให้ปรับตำแหน่งในส่วนของนักวิชาการสาธารณสุขเดิม แต่มีคุณสมบัติพร้อม คือ ได้ใบประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุข ให้กำหนดตำแหน่งใหม่เป็นนักสาธารณสุขก่อน ซึ่งเราขอตำแหน่งจากเลข จ.เดิมของแต่ละคน ไม่ได้ขอเลขใหม่แต่อย่างใด ส่วนที่เหลือก็จะต้องมาสอบเพื่อขึ้นทะเบียนใบผู้ประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุขก่อน ทั้งนี้ ก็ต้องรอ อ.ก.พ.สธ.พิจารณาและคุยกับ ก.พ. ซึ่งเท่าที่ดูจากไทม์ไลน์ของ สธ. คาดว่าช่วง ต.ค.นี้ก็น่าจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เราก็คาดหวังว่า ต.ค.นี้น่าจะได้เห็นการบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขเข้าไปในระบบ ก.พ.

"เหตุผลที่เปลี่ยนตรงนี้ เพราะประชาชนควรได้รับบริการจากคนที่มีมาตรฐาน เมื่อเทียบกับวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เขาจะมีวิชาชีพ แต่สาธารณสุขวิชาชีพเกิดทีหลัง จึงต้องค่อยๆ พัมนาปรับปรุง เราก็ค่อยๆ ขยับคนที่มีคุณลักษณะพร้อมก่อน มีใบประกอบวิชาชีพก็เข้าสู่แท่งวิชาชีพ เบื้องต้นคนที่มีคุณสมบัติพร้อมแล้วตามฐานข้อมูลของสภาฯ คือ 2.6 หมื่นคน ซึ่งจำนวนนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด โดยเป็นข้าราชการ 60-70%" นายอเนกกล่าว


นายอเนกกล่าวว่า สำหรับตำแหน่งนักสาธารณสุขที่จะขอให้มีการบรรจุคนลงตำแหน่งนั้น เราอยากให้มีการเปลี่ยนทั้งส่วนที่เป็นข้าราชการในสังกัด ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างๆ และท้องถิ่น และส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ก็ขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานนั้นๆ ที่จะพิจารณาว่าจะให้ตำแหน่งนี้หรือไม่ และสิทธิต่างๆ จะพิจารณาให้อย่างไรตามบริบท แต่สภาฯ จะต้องขับเคลื่อนที่เดียว เพราะเป้าสุดท้ายคือประชาชนรับบริการ หากเราเลือก สธ.ก่อน ท้องถิ่นทีหลังก็คงไม่ใช่ ก้ต้องขับเคลื่อนไปทีเดียว

ถามถึงกรณีการจะเป็นนักสาธารณสุขต้องผ่านการอบรมหลักสูตรอะไรโดยเฉพาะหรือไม่ นายอเนกกล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องเรียนจบปริญญาตรีด้านสาธารณสุขที่สภาฯ รับรองหลักสูตร ซึ่งมีอยู่ร้อยกว่าสถาบัน อย่างราชภัฏและเอกชนก็มีจำนวนมาก สถาบันหลักๆ ที่มีอยู่แล้วก็มีหลักสูตรนี้เกือบทั้งหมด และเมื่อจบแล้วก็มาขอสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกับสภาฯ ก็จะมีมาตรฐานของเราอยู่ ตอนนี้ข้อสอบยาก เท่าที่ฟังจากคนสอบว่าข้อสอบของเราค่อนข้างยาก หลายคนก็สอบหลายรอบยังไม่ผ่าน


ถามว่าตอนนี้กำลังการผลิตถือว่าเพียงพอหรือไม่กับภาระงานที่มี ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าภาระงานมาก นายอเนิกกล่าวว่า การผลิตเรามองว่าเพียงพอ แต่เราอยากเห็นเรื่องคุณภาพที่มีมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าตอนนี้ไม่มีคุณภาพ แต่เราอยากเห็นการเคี่ยวให้ออกมาเป็นนักสาธารณสุขคุณภาพที่จะออกมาดูแลประชาชนมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับภาระงานเราก็มองว่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากข้อมูลในสังคมเราจะมองไปที่ สธ. ซึ่ง สธ.มองว่าคนเกิน แต่ที่เกินเพราะว่ากรอบอัตรากำลังไม่ขยาย ไม่ได้สอดคล้องกับปัญหาหรือบริบทของงาน เลยทำให้มีความรู้สึกว่าคนล้น แต่จริงๆ ถ้าไปดูข้อมูลอย่างใน รพ.สต. มีข้าราชการประมาณ 2.5 - 3 คนโดยเฉลี่ย แต่คนทำงานจริงๆ ประมาณ 10 คน หมายความว่าจริงๆ แล้วระบบต้องการคนทำงาน แต่ภารัฐไม่มีกำลังในการบรรจุได้

ถามว่าที่ สธ.มีการทำกรอบอัตรากำลังขั้นสูงภายในปี 2569 ในส่วนของนักสาธารณสุขควรมีกรอบอัตรากำลังเท่าไรถึงน่าจะเพียงพอกับภาระงาน นายอเนกกล่าวว่า จริงๆ ตอนนี้ถ้าเรามองใน รพ.สต. เรามองว่าใน 1 แห่ง น่าจะมีสักอย่างน้อย 5-7 คน เพราะปัญหาสาธารณสุขเราใช้เครื่องมือไม่ได้ เราต้องใช้คนไปคุยกับคน และมีหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เรื่องอาชีวอนามัย ที่ก็ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงาน แต่อยู่ในทุกคนที่ประกอบอาชีพเราก็ต้องไปช่วยดู ภารกิจของนักสาธารณสุขรองรับภารกิจของทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้เฉลี่ย 2.5 - 3 คน อย่างไรก็ไม่เพียงพอ ก็ทำให้โอเวอร์โหลด สุดท้ายกลายเป็นว่า เราไม่สามารถทำงานได้คุณภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น