xs
xsm
sm
md
lg

ลุยอบรม "นักสาธารณสุข" ควบคุม ป้องกัน ำบับด "เหล้า" ในชุมชน ส่วนที่ถ่ายโอนไป "ท้องถิ่น" ไม่ครอบคลุม จะออกประกาศเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ร่วมสภาการสาธารณสุขชุมชน สสส. ม.กรุงเทพธนบุรี สปสส. พัฒนาศักยภาพ "นักสาธารณสุขชุมชน" ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ่วงป้องกันบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดสุราในชุมชน ตามบทบาทวิชาชีพ จ่อชงออกประกาศให้นักสาธารณสุขชุมชนที่ถ่ายโอนตาม รพ.สต.ไปท้องถิ่น ให้เป็นเจ้าพนักงานตาม กม.ควบคุมเหล้าด้วย หลังกฎหมายยังไม่ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นิพนธฺ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) ดร.ไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิบการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการป้องกันและบำบัดรักษา สำหรับ รพ.สต."


นพ.นิติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการบริการป้องกันและบำบัดรักษาสำหรับ รพ.สต. ให้แก่ วิชาชีพนักสาธารณสุขชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันระบบสุขภาพในพื้นที่ได้มีการถ่ายโอน รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย โดย รพ.สต.เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน และบทบาทของวิชาชีพนักสาธารณสุขชุมชนสามารถให้บริการ ค้นหาคัดกรอง ให้คำแนะนำ/คำปรึกษาแบบสั้น ให้แก่ผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ดื่ม และสามารถส่งต่อผู้มีปัญหาจากการดื่มและอาการถอนพิษสุรา ไปยังหน่วยบริการในระดับที่สูงขึ้น สร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นในพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้


นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลปี 2565 พบการใช้แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคและการบาดเจ็บมากกว่า 200 กรณี มีคนเสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย คิดเป็น 5.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปี 2564 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยเท่ากับร้อยละ 28 หรือเกือบ 3 ใน 10 ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับเป็นงานสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนแก้ปัญหา ซึ่ง สคอ.เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนที่ทำงานสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่ จึงจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่นักสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีอัตราการดื่มเยอะส่วนใหญ่จะเป็นภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนภาคใต้มีอัตราการดื่มไม่มากเท่า แต่จะเยอะที่ จ.ปัตตานี


นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสาธารณสุขและสังคม ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบการดื่มของคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ลดลงจากร้อยละ 14 ในปี 2557 แต่พบนักดื่มหน้าใหม่ช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 30.8 ช่วงอายุ 20-24 ปี ร้อยละ 53.3 ที่สำคัญนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2560 ส่งผลให้ต้องเร่งหามาตรการควบคุมป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สสส.และภาคีเครือข่าย จะเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชน ดำเนินงานคู่ขนานกับการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษาการเลิกดื่ม บำบัดรักษาและฟื้นฟู การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินงานเชิงรุก ส่งเสริมศักยภาพนักสาธารณสุขชุมชนให้สามารถป้องกันและบำบัดผู้มีปัญหาสุราในชุมชนทั่วประเทศ

ดร.วศินกล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยความร่วมมือจากสภาการสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สสส. และ สปสส. ให้กับนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน จะเปิดอบรมจำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 2,500 คน ให้มีองค์ความรู้ พัฒนาต่อยอดได้และเพิ่มศักยภาพในการทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพื้นที่ ทำงานสอดประสานร่วมกัน ขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้ทุกคนในสังคมไทย มีสุขภาพดีครบทั้ง 4 ด้าน ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคมพร้อมทั้งให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ถามว่าขอบข่ายการทำหน้าที่ของนักสาธารณสุขชุมชนจะครอบคลุมเรื่องการเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยหรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า นักสาธารณสุขชุมชนถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมเคร่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่แล้ว กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ใน รพ.สต. แต่จากการที่มีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปสังกัดท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายที่เขียนไว้อาจยังไม่ครอบคลุมในเรื่องของการนักสาธารณสุขชุมชนที่สังกัดท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่จะบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ตนเอง แต่ในเรื่องของการป้องกัน บำบัด รักษา และฟื้นฟู เป็นบทบาทของวิชาชีพที่ปฏิบัติได้อยู่แล้ว ซึ่งการจะทำให้ครอบคลุมก็จะต้องออกประกาศเพิ่มเติม โดยอาจออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนักสาธารณสุขชุมชนที่ถ่ายโอนไปสังกัดมหาดไทย เป็นเจ้าพนักงานเพิ่มเติมด้วย

ถามถึงกรณีกระแสเรื่องสุราพื้นบ้านจะกระทบต่อการทำหน้าที่ของนักสาธารณสุขชุมชนหรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ก็มีผลกระทบ เพราะข้อเท็จจริง คือ สุราก้าวหน้าส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นสุราชุมชนมานาน แต่โฆษณาไม่ได้ แต่หากมีการบริโภคเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นแน่นอน อย่างรัสเซียที่มีการโปรโมตเรื่องของวอดก้าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ สุดท้ายก็ยอมรับว่ามีผลเสียที่ต้องแก้ไขในภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น