ปลัด สธ.เผยคนไทยเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้น ใช้ Smart Watch เพิ่ม 22.2% คาดหวังระบบบริการสุขภาพภาครัฐมากขึ้น ลุยหนุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพดิจิทัลเสริมทัพระบบสาธารณสุขไทย ทั้งหุ่นยนต์ AI ลุยพัฒนาคน IT สธ.เปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล ปี 2566 และบรรยายพิเศษ “การยกระดับบริการสุขภาพด้วยดิจิทัล เพื่อคนไทยสุขภาพดี” ว่า ปัจจุบันประชาชนเข้าถึงระบบดิจิทัลและใช้อุปกรณ์ดิจิทัลด้านสุขภาพมากขึ้น พบว่ามีการใช้ Smart Watch เพิ่มขึ้น 22.2% และมีความคาดหวังต่อระบบบริการภาครัฐเพิ่มขึ้น ดังนั้น การยกระดับบริการสุขภาพด้วยดิจิทัล จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการของประชาชน ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" มากที่สุด 3.38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อีกทั้งมีการจัดบริการการแพทย์ออนไลน์ใน รพ.สต.มากถึง 93.3% และใน รพ.ชุมชน 86%
นพ.โอภาส กล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 ระบบบริการสุขภาพดิจิทัลต้องออกแบบให้สามารถบริการประชาชนได้ทุกที่และใช้เทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยบริการและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ รวมทั้งนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล 2.การดำเนินการด้านกฎหมาย พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องและจริยธรรม 3.การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศสุขภาพดิจิทัล 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล 5.การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และ 6.การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน
"การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดนโยบาย เสริมสร้างองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของ สธ. ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการกำกับดูแลด้านดิจิทัล สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยมีผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วมกว่า 500 คน" นพ.โอภาสกล่าว