xs
xsm
sm
md
lg

ใครควรแคร์ (care) ผู้สูงอายุที่อยู่อย่างเหงาๆ คนเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบัน การอยู่ตามลำพังคนเดียว ได้กลายเป็นเทรนด์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่กำลังพูดถึงกันอย่างมากในหลากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย จำนวนเด็กเกิดของประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียนที่เคยสูงเกิน 1,000,000 คน คนเมื่อ 60 ปี ก่อน ได้ลดต่ำลงจนแตะหลัก 500,000 คน เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวนเกิดที่ลดลงดังกล่าวได้ส่งสัญญาณและตอกย้ำว่า สังคมไทยเราในวันนี้ กำลังกลายเป็นสังคมไร้ลูกหลาน ภาพปัจจุบันที่เรามองเห็นในสังคมคือ ผู้หญิงรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดกันมากขึ้น คนรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลง คู่รักหลายคู่แต่งงานแล้วก็ไม่มีลูก และค่านิยมเกี่ยวกับ “การมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” “มีลูกหลานไว้สืบสกุล” หรือคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ลูกคือโซ่ทองคล้องใจ” ก็น่าจะกำลังเลือนหายไป ไม่เพียงแต่หนุ่มสาววัยทำงานเท่านั้น ที่มีแนวโน้มอยู่ตามลำพังมากขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยก็เช่นเดียวกัน ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว และในจำนวน 13 ล้านคน จะมีผู้สูงอายุอยู่ประมาณร้อยละ 12-15 หรือประมาณ 1.5 ล้านคน ที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว แนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุในปัจจุบันที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัย
สถานการณ์การเข้าถึงบริการทางสังคมในด้านสุขอนามัยด้านความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และการมีส่วนร่วมในสังคมและที่อยู่อาศัย พบว่า การส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการไม่มีผู้ดูแลในบั้นปลายชีวิต และเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้สูงอายุเมื่อมีอายุมากขึ้น ย่อมมีสุขภาพที่เสื่อมถอยลงตามเวลา ประกอบกับมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ต้องอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว ยิ่งทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีผู้ดูแล หรือระบบการดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะของการดูแลระยะยาวนั่นเอง ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ชวนขบคิดในเรื่องการเตรียมความพร้อม หรือการเตรียมตัวที่จะรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น คำถามที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว คงไม่พ้นกับคำถามที่ว่า ในบั้นปลายชีวิตใครจะมาดูแล ใครจะพาไปโรงพยาบาล ใครจะช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน เป็นคำถามที่ตัวผู้สูงอายุเอง หรือหน่วยงานที่ดูแลจะต้องกลับมาทบทวนและหาคำตอบอย่างเร่งด่วน

เมื่อเกิดคำถามว่า แล้วใครควรแคร์ (care) ผู้สูงอายุที่อยู่อย่างเหงาๆ คนเดียว สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุอยู่โดดเดี่ยวควรแคร์ เป็นอันดับแรก คือ “แคร์ตัวเอง” ยิ่งต้องอยู่คนเดียว ยิ่งควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ช่วยเหลือตนเองได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง และพึ่งพาตนเองให้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ควรต้องวางแผนตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ และเตรียมตัวเองเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุอย่างมีพลังและยังประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเตรียมตัวดูแลตนเองทั้งในเรื่องสุขภาพร่างกาย สุขภาพทางใจ การออมเพื่อวัยเกษียณ การหาความรู้ใหม่เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังก้าวไกลไปข้างหน้า การเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับอนาคต รวมไปถึงการวางแผนหรือการเตรียมผู้ดูแลก็สำคัญไม่แพ้กัน ข้อที่สอง “แคร์จิตใจ” เรียกได้ว่า สุขภาพใจสำคัญไม่แพ้ไปกว่าสุขภาพกาย การอยู่คนเดียวทำให้รู้สึก “เหงา กังวล ซึมเศร้า กลัวตายคนเดียว” การดูแลที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว คือ การดูแลจิตใจ การมีโปรแกรมการดูแลด้านจิตใจ อาจช่วยรองรับสังคมโดดเดี่ยวได้ อาจเป็นกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจสำหรับผู้สูงอายุที่มีการปรับเปลี่ยนการอยู่อาศัย จากที่เคยมีผู้อาศัยอยู่ด้วย เช่น เคยอยู่กับสามี-ภรรยา อยู่กับลูก กลับกลายเป็นต้องเปลี่ยนมาอยู่ตามลำพังคนเดียว การมีการตั้งชมรมคนโดดเดี่ยว (solo club) สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง เพื่อจะได้มารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน ให้กำลังใจกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ข้อที่สาม “แคร์จากเพื่อนบ้าน และชุมชน” การมี “ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยเพื่อนบ้าน- neighborhood systems” อาจช่วยตอบโจทย์การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว เมื่อเพื่อนบ้านคือหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมากที่สุด โดยการจัดให้มีผู้นำประจำซอย และการสร้างความตระหนักให้เพื่อนบ้านร่วมใจกันดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่อยู่ตามลำพังคนเดียวในซอยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการหาวิธีช่วยเหลือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สัญญาณ/กริ่ง การตั้งกลุ่มไลน์ ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยได้อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คือ การสร้างระบบและเครือข่ายการสนับสนุนต่าง ๆ ในชุมชน เรียกได้ว่า เป็น “การดูแลโดยชุมชน- community care” นั่นเอง ซึ่งสังคมคาดหวังว่า ชุมชน จะมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว และสุดท้ายข้อ สี่ คือ “แคร์จากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม” ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม แต่ควรต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และเท่าเทียม โดยควรเน้นเรื่องระบบบริการทางสุขภาพและสังคม เพื่อรองรับกับการอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการมีระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวแล้ว ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจใช้วิธีการขึ้นทะเบียนคนที่อยู่คนเดียวที่มีอายุใกล้ 60 ปี ที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงอายุและมีความตั้งใจว่าจะอยู่คนเดียวในบั้นปลายชีวิต เพื่อเป็นการรองรับการดูแลระยะยาว นอกจากนี้ ควรบรรจุกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบาง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างรอบด้าน






กำลังโหลดความคิดเห็น