สปสช.ดึง รพ.พหลพลพยุหเสนา ร่วมตรวจ DNA ยืนยันตัวตนคนไทยไร้สิทธิ ช่วยมีบัตรประชาชน เข้าถึงสิทธิบัตรทอง ขณะที่ รพ.ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการรักษาที่เบิกไม่ได้ เผยหากผลยืนยันตามสิทธิสามารถเบิกจ่ายย้อนหลังได้ใน 1 ปี
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการลงนาม MOU ของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงยุติธรรมโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธีพัฒนาที่อยู่อาศัย องค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย และ สปสช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบบัตรทอง โดยจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร เนื่องจากที่ผ่านมา รพ.หลายแห่งให้บริการรักษาสุขภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะคนไทยไร้สิทธิ หรือคนที่ยังรอพิสูจน์สิทธิที่ให้การรักษาไปแล้ว ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช. ได้ เพราะยังติดปัญหาเรื่องการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถยืนยันสิทธิการรักษาได้ ส่งผลให้ รพ.ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อีกทั้งยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
"สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันทำให้เกิดการพิสูจน์สิทธิให้กับคนไทยไร้สิทธิ ได้มีสิทธิสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการมีบัตรประชาชนจะช่วยให้เข้าถึงสิทธิการรักษาเมื่อเจ็บป่วย จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาชน ทำงานเชิงรุกเข้าถึงคนไทยไร้สิทธิ ช่วยดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะทางทะเบียน ตรวจทางพันธุกรรม เพื่อยืนยันผลพิสูจน์เป็นหลักฐานยืนยันสิทธิความเป็นคนไทย ซึ่งหากมีการพิสูจน์สิทธิในภายหลังแล้ว รพ.ที่ให้บริการไปสามารถขอเบิกจ่ายค่ารักษาให้กับผู้ป่วยย้อนหลังได้ในระยะ 1 ปี ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย รพ. และทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิสวัสดิการมากขึ้นด้วย" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวว่า สปสช. ยังร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนการออกหน่วยบริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ให้กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ และผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นที่เรียบร้อยที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ร่วมกับเครือข่ายอีก 8 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย และ DSI โดยมีการมอบบัตรประชาชนใบแรกหลังพิสูจน์สัญชาติให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G จำนวน 90 คน เพื่อให้กลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และมีสิทธิทางด้านรักษาพยาบาล ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการทางสังคมอื่น
นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.พหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า การให้บริการสุขภาพกับคนไทยไร้สิทธิที่ยังไม่มีบัตรประชาชน หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ รพ.ให้การรักษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่าย เพราะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอันดับแรก แต่ก็ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีบัตรประชาชน ฉะนั้นหากร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อให้คนไทยไร้สิทธิกลุ่มนี้ได้เข้าถึงบริการสุขภาพ จะเป็นการสร้างประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้ รพ.พหลพลพยุหเสนา พร้อมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรมกับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแต่ยังเป็นคนไทยไร้สิทธิ เพื่อส่งต่อให้มีการตรวจ DNA ยืนยันความเป็นคนไทย หวังเป็น รพ.ต้นแบบในจังหวัดที่มีการจัดการปัญหาคนไทยไร้สิทธิ