xs
xsm
sm
md
lg

ร่างหนังสือเรียก "หมออ๋อง" ให้ข้อมูลโพสต์เบียร์ รอได้ที่อยู่ชัดพร้อมส่งทันที โต้ไล่จับรีดค่าปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างหนังสือเตรียมเรียก “หมออ๋อง” ให้ข้อมูลโพสต์เบียร์ รอสำนักทะเบียนกลางแจ้งที่อยู่ พร้อมส่งทันที หากยอมความสามารถเสียค่าปรับโดยไม่ต้องส่งตำรวจ โต้คนเบี่ยงประเด็นไม่ได้ไปไล่จับเพื่อรีดเอาค่าปรับ ชี้เป็นเรื่องร้องเรียน ทำทุกอย่างตามกฎหมายที่มีในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าจัดทำหนังสือถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กรณีมีผู้ร้องเรียนพฤติกรรมการโพสต์คราฟท์เบียร์ในเฟซบุ๊ก เข้าข่ายผิดฐานโฆษณาตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายได้มีการยกร่างหนังสือเชิญนายปดิพัทธ์ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวภายใน 15 วัน ซึ่งจะเริ่มนับวันแรกในวันที่ออกหนังสือส่งไป โดยเบื้องต้นตนได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เพื่อขอที่อยู่ของนายปดิพัทธ์ เพื่อจัดส่งหนังสือแจ้งฯ แล้ว ส่วนหนังสือจะสามารถส่งทันภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

“ถ้าถามลักษณะว่าเข้าข่ายไหม หลักฐานทางคดีมันก็เข้าข่ายในวรรคสอง เรื่องของการเชิญชวนเอาไว้ ว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จริงๆ โฆษณาอย่างอื่นก็ได้ เพราะที่ จ.พิษณุโลกมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเยอะแยะที่สามารถโฆษณาได้ แต่ทำไมต้องมาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่รู้ว่าผิด ถ้าบอกว่าอยากแก้กฎหมายตัวนี้ ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือสำนักงานฯ แต่ตอนนี้อำนาจของสำนักงานฯ อยู่ภายใต้กฎหมายที่มี ถ้าเราไม่ทำเราก็โดน เพราะยังมีกฎหมายอยู่ จึงต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้าผิดก็ต้องว่ากันไปตามหลักฐาน” นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ทราบว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายปดิพัทธ์ก็พูดเอง ฟังๆ ดูก็เหมือนกับการรับกลายๆ แต่ก็ยังมีขั้นตอนตามกฎหมายที่เราต้องดำเนินการ ซึ่งบางคนเขาก็ไม่อยากให้เรื่องไปถึงชั้นตำรวจก็จะยอมความแล้วเสียค่าปรับในชั้นของสำนักงานฯ เลย เพราะพอปรับแล้วคดีก็ถือว่าสิ้นสุด ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงขั้นตอนตามกฎหมาย หากผู้ถูกร้องบอกว่าตัวเองไม่ผิด สำนักงานฯ ก็จะชี้ที่ประเด็นเข้าข่ายแล้วทำหลักฐานทั้งหมดส่งเจ้าพนักงานสอบสวน ทางเจ้าพนักงานสอบสวนก็จะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าไม่ยอมรับก็ส่งศาลตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคดีที่จะต้องขึ้นสู่ชั้นศาล ส่วนใหญ่ถ้าเขารู้ตัวว่าผิดก็จะยอมรับ แล้วยอมเสียค่าปรับ ซึ่งอำนาจในการส่งปรับนั้นมีทั้งในชั้นของสำนักงานฯ และชั้นของพนักงานสอบสวน แต่เนื่องจากชั้นของสำนักงานฯ จะมีการค่าปรับสูงกว่า จึงส่งมาให้สำนักงานฯ เป็นผู้สั่งปรับ

"ตามกติกาคือถ้าเป็นความผิดครั้งแรกก็ปรับ 5 หมื่นบาท แต่เราก็ดูตามประเด็นว่ามีอำนาจในการลดหย่อนได้แค่ไหน ถ้าผิดครั้งที่สองก็จะปรับ 2 แสนบาท แต่ถ้าผิดเป็นครั้งที่ 3 ก็ปรับ 5 แสนบาท แต่ถ้าเป็นบริษัทผู้ผลิต จำหน่ายก็จะปรับ 5 แสนบาทเลย ที่ผ่านมามักมีคนชอบเบี่ยงประเด็นว่า สำนักงานฯ อยากได้ค่าปรับเลยไปไล่จับนั้น ต้องขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะส่วนใหญ่คดีเหล่านี้จะเป็นคดีที่ถูกร้องเรียนเข้ามาในระบบ" นพ.นิพนธ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น