xs
xsm
sm
md
lg

คร.-กาชาด-เนคเทค นำร่อง 5 จังหวัด ใช้ระบบสแกนม่านตา ยืนยันตัวตนคนไร้บัตรประจำตัว เพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ร่วมกาชาดและเนคเทค พัฒนาระบบสแกนม่านตาและใบหน้า ช่วยระบุตัวตนคนไม่มีเอกสารประจำตัว ทั้งต่างด้าว ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย หนีภัยสงคราม นำร่องขยายผล 5 จังหวัด เพื่อเข้าถึงบริการ สืบค้นง่าย ลดความซ้ำซ้อนข้อมูล

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ รพ.นครท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นพ.ธเรศ กล่าวว่า การระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้เห็นภารกิจการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตน ปัญหาที่พบคือ มีความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่ปรากกฎในเอกสารประวัติการได้รับวัคซีน ส่งผลต่อความครอบคลุมและการดูแลสุขภาพของกลุ่มประชากรดังกล่าว ปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรคร่วมกับสภากาชาดไทย และเนคเทค จัดทำโครงการนำเทคโนโลยีระบุตัวบุคคลด้วยใบหน้าในกลุ่มประชากรข้ามชาติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรข้ามชาติอาศัยจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร หรือ กทม. เพื่อให้การระบุตัวตนของบุคคลนั้นๆ สามารถรับบริการสุขภาพที่เหมาะสมเป็นไปตามคำแนะนำทางการแพทย์และทำให้ประวัติการรับวัคซีนมีความสมบูรณ์มากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นำร่องที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว


"ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการขยายผล มุ่งพัฒนาใช้เทคโนโลยีการสแกนม่านตาที่มีความเที่ยงตรงมากขึ้น กรมฯ และภาคีเครือข่ายจะดำเนินการระยะแรก ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และ กทม. เก็บข้อมูลประชากรข้ามชาติที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ใน รพ.หรือเก็บข้อมูลเชิงรุกในพื้นที่ที่อาจมีเหตุการณ์ทางสาธารณสุขที่สำคัญ เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้เพิ่มความสะดวกและเกิดความแม่นยำในกระบวนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ลดเกิดข้อผิดพลาดการระบุตัวตน ขณะเข้ารับบริการทางการแพทย์ในกลุ่มประชากรดังกล่าว ผลจากการดำเนินการในระยะแรกนี้ จะมีการผลักดันต่อไปในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงงานป้องกันควบคุมโรคอื่นๆ ต่อไป" นพ.ธเรศกล่าว

นายเตช กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและมีเอกสารประจำตนประมาณ 2.7 ล้านคน แต่ยังมีบุคคลที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนจำนวนหนึ่งที่อาศัยในไทย ได้แก่ แรงงานที่เข้ามาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดน กลุ่มคนไร้บ้าน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องหรือต้องรับวัคซีนป้องกันโรค บุคคลผู้ที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้น้อย ส่งผลให้การควบคุมและป้องกันโรคทำได้ยากและอาจมีผลกระทบต่อประชาชนไทย เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดมักจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มที่ไม่มีชื่อหรือข้อมูลในฐานข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมชีวมิติ ระบบจดจำลายม่านตาและจดจำใบหน้า (Iris and Face Recognition) ชื่อระบบ Thai Red Cross Biometric Authentication System (TRCBAS) นำมาใช้เป็นระบบการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน เพื่อสร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ที่แม่นยำ มีคุณภาพในระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในระยะแรกยินดีสนับสนุนกล้องถ่ายภาพม่านตาและใบหน้า วัสดุอุปกรณ์ 130 ชุด ให้กรมควบคุมโรคนำไปใช้ใน 5 จังหวัดนำร่องและบุคลากรอื่นๆ ที่จำเป็น


ด้าน ดร.ชัย กล่าวว่า เนคเทค พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมชีวมิติ (Biometrics) และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาโปรแกรมการระบุตัวตน ทั้งรูปแบบการจดจำลายม่านตา (Iris Recognition) และการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ให้ระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ส่งเสริมและสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ไปสู่แนวปฏิบัติให้แก่บุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ช่วงโควิดตั้งแต่ ต.ค. 2564 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ภาคีเครือข่าย และเนคเทค ได้ร่วมออกหน่วยนำระบบบริการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า ลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยสงคราม แรงงานต่างด้าวไร้สัญชาติ หรือไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยการสู้รบพื้นที่ต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เก็บข้อมูลกว่า 8,000 คน จนปี 2566 ได้ขยายผลเป็นการเก็บข้อมูลม่านตาเพื่อใช้ยืนยันตัวบุคคลเพิ่มขึ้น ได้นำไปทดลองใช้ในศูนย์อพยพที่ จ.ราชบุรี มีความถูกต้องสูงถึง 97% คาดว่าจะสามารถพัฒนาอัลกอริทึมให้ได้ระดับความแม่นยำที่ระดับ 99% ในไตรมาสนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการย้ายถิ่นฐานหรือย้ายไปทำงานในที่ใด ก็สืบค้นประวัติได้ง่าย ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ รพ.ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้






กำลังโหลดความคิดเห็น