อย.ร่วมตำรวจสอบสวนกลาง สภาเภสัชกรรม กวาดล้างร้านยา 14 แห่งใน กทม. จับเภสัชเถื่อน 13 ราย พบจบแค่ ม.3 ม.6 สูงสุดแค่ป.ตรี ไม่มีความรู้เภสัชกรรม พบขายทั้งยาน้ำเชื่อมแก้ไอ ยาทรามาดอล ให้วัยรุ่นไปผสม 4x100 พร้อมเจอบาปลอม 572 ชิ้น ยาไม่มีทะเบียน 21 ชิ้น ฟันโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งกลุ่มเภสัชเถื่อน เจ้าของร้านยา รวมถึงเภสัชกรประจำร้าน ฐานปล่อยปละละเลย ถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. แถลงข่าวการรวบเครือข่ายร้านยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดย ภก.วีระชัยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานงานจาก อย. ให้ตรวจสอบร้านขายยาที่ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแคปซูลเขียวเหลืองให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4x100 โดยวันที่ 24 ก.ค. - 9 ส.ค. 2566 ได้ร่วมกันตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายรายใหญ่ ในพื้นที่ กทม. 14 จุด ได้แก่ 1. ร้านขายยาไทยฟาร์มาซี 5 สาขา 2. ร้านคลินิกยา 4 สาขา 3. ร้านพูนทรัพย์ฟาร์มาซี 2 สาขา 4. ร้านขายยาพาดา เจริญเภสัช 2 สาขา และ 5. ร้านบ้านยาของขวัญ โดยตรวจยึดยาปลอม 572 ชิ้น, ยาไม่มีทะเบียน212 ชิ้น, ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 24,722 ขวด, ยาเขียวเหลือง (ทรามาดอล) 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษ 21 กล่อง
"สามารถจับกุมผู้ต้องหาซึ่งไม่ใช่เภสัชกร ไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม โดยผู้ต้องหาจบการศึกษาระดับ ม.3 จำนวน 3 ราย ม.6 จำนวน 2 ราย และปริญญาตรี 8 ราย รวมทั้งสิ้น 13 ราย ดำเนินคดีข้อหาประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ทั้งหมดให้การว่า รับจ้างเป็นพนักงานขายยาภายในร้านขายยาซึ่งอยู่ประจำร้านทุกวัน และจะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลร้านเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 - 18,000 บาท โดยถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ภก.วีระชัยกล่าว
ภก.วีระชัยกล่าวว่า จากการสืบสวนขยายผลพบว่า ร้านขายยาดังกล่าวข้างต้นมีรูปแบบการกระทำความผิดลักษณะที่เจ้าของผู้ดำเนินกิจการรายเดียว ยื่นขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อรับโควตาซื้อยาแก้แพ้ ยาแก้ไอในปริมาณมาก เครือข่ายดังกล่าวมีเจ้าของประกอบด้วย น.ส.อุมาพร (สงวนนามสกุล) 8 ร้าน, น.ส.วนิดา (สงวนนามสกุล) 3 ร้าน, นายพัทธนนท์ (สงวนนามสกุล) 2 ร้าน และ น.ส.นวรัตน์ 1 ร้าน สถานที่ตั้งร้านเลือกทำเลอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออพาร์ทเมนท์ ซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นพักอาศัยอยู่มาก ทำให้สะดวกต่อการซื้อ ซึ่งร้านขายยาในชุมชนมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรคและยาได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการที่คิดแสวงหากำไรอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยการขายยาบางประเภทผิดจากวัตถุประสงค์ มุ่งเน้นจำหน่ายเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก
"กรณีผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินกิจการร้านขายยาที่ขออนุญาตเปิดร้านขายยาที่มียาปลอมและยาไม่มีทะเบียน ขายยาแก้แพ้แก้ไอและยาเขียวเหลืองให้กับเยาวชน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา ฐานไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดฯ ระวางโทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท, ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ระวางโทษปรับ 1,000 - 5,000 บาท, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขายยาปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท อย.จะได้เสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาต" ภก.วีระชัยกล่าวและว่า สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร) มีความผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ ไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยาอันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนด ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
ภก.วีระชัยกล่าวว่า อย. มีมาตรการกำกับดูแลการจำหน่ายยากลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่การผลิต/นำเข้า การขายให้ร้านขายยา และจ่ายยาให้ผู้ป่วย กรณีตรวจพบการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากดำเนินคดีแล้ว ยังถูกพักใช้ใบอนุญาต 120 วัน หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 78 ร้าน, โรงงานผลิตยาถูกพักใช้ใบอนุญาต 2 แห่ง และบริษัทขายส่งยาถูกเพิกถอนใบอนุญาต 1 แห่ง สำหรับเภสัชกรที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ หรือไม่ควบคุมการจัดทำบัญชีซื้อและขายยาโดยเฉพาะยาอันตรายกลุ่มเสี่ยง อย. จะดำเนินคดีตามกฎหมายและส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณต่อไป
พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบในครั้งนี้ พบยาไม่มีทะเบียน และยาปลอม ซึ่งตำรวจเฝ้าระวังและจะขยายผลถึงต้นตอของยาไม่มีทะเบียนและยาปลอมที่ตรวจพบต่อไป ขอความร่วมมือร้านขายยาปฏิบัติตามกฎหมาย และร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป ขอประชาชนทราบว่า ยาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ใช้เพื่อรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บป่วย ต้องใช้อย่างถูกวิธี ได้รับคำแนะนำการใช้อย่างละเอียดจากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์ หากพบเห็นร้านขายยาใดมีพฤติกรรมใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือกระทำความผิดกฎหมายอื่นใดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีการจับกุมร้านขายยาที่ลักลอบขายยาแก้ไอ, ยาทรามาดอลให้กับเยาวชนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เอาไปใช้เสพติด และผู้ขายยาไม่ใช่เป็นผู้มีความรู้เรื่องยาโดยตรง ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ด้วย คือ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีโทษสูง ปรับ 30,000 บาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนเภสัชกรปฏิบัติการในร้าน หากไม่ได้อยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาที่เปิดทำการ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ขายยากลุ่มเสี่ยง แต่ในฐานะผู้ควบคุมกำกับเกี่ยวกับการขายยา ส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ มีการปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมหรือไม่ หรือเข้าข่ายส่งเสริมสนับสนุนให้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นความผิดทางจรรยาบรรณได้ มีโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 2 ปี จึงขอให้เภสัชกรที่ไม่ได้อยู่ประจำตลอดเวลาต้องระมัดระวัง สอดส่องกำกับดูแลให้มีการขายยาให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยา