สปสช.เล็งบรรจุ "อาหารเหลวปั่น" ฝีมือผลิตคณะอุตฯ มอ.เข้าสิทธิประโยชน์ หากผลวิจัยออกมาดีและขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้ ล่าสุดผ่าน อย.แล้ว เตรียมขอฮาลาล เผยต้นทุน 35-40 บาทต่อซอง ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง กลืนยาก รับอาหารสายยาง ติดเตียง เข้าถึงอาหารโภชนาการครบ มีมาตรฐาน เก็บได้นาน 1 ปี ไม่ต้องซื้อแพงจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารปั่นเหลวพร้อมบริโภค ซึ่งคิดค้นร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มอ. ขณะนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว กำลังอยู่ระหว่างขอรับรองมาตรฐานฮาลาล และเตรียมขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในเร็วๆ นี้ อีกทั้งจะยกระดับเป็นอาหารทางการแพทย์เพื่อใช้ใน รพ.ต่อไปได้
"การให้บริการผู้ป่วย คนส่วนมากจะนึกถึงยา แต่จริงๆ แล้ว อาหารก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะผู้ป่วยจะฟื้นฟูสภาพดีขึ้นไม่ใช่แค่กินยาอย่างเดียว แต่ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารแบบคนปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ต้องเจาะคอ ให้อาหารทางสายยาง ติดบ้านติดเตียง เป็นต้น กลุ่มนี้มีประมาณ 1 แสนคน ที่ผ่านมาญาติมีภาระในการประกอบอาหาร ต้องปั่นให้ละเอียด มีความสะอาดและสารอาหารครบถ้วน บางคนซื้อสินค้าอาหารปั่นเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง" นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์อาหารปั่นเหลวที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร มอ. ผลิตขึ้นมานั้น ใช้ผลผลิตจากเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบ ทำให้มีราคาต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าจากต่างประเทศมีราคาอยู่ที่ประมาณ 150 บาท แต่ผลิตภัณฑ์อาหารปั่นเหลวนี้ประเมินต้นทุนในอนาคตอาจจะต่ำกว่าซองละ 35-40 บาท แต่ยังคงคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐานทางโภชนาการที่กำหนด โดยผลิตภัณฑ์นี้มีการทำวิจัยใช้กับผู้ป่วยเพื่อศึกษาว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่อย่างไร ผลทางการแพทย์เป็นอย่างไร เมื่อมีผลการศึกษาที่ชัดเจนและได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว ก็จะสามารถบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระจายไปยังผู้ป่วยที่มีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องให้อาหารทางสายยาง หรืออนาคตอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น
ด้าน นายสุวิชาญ เตียวสกุล รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มอ. กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดในการนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการอาหารปั่นเหลวในช่วงของการพักฟื้น จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์คิดค้นขึ้น ปัจจุบันได้บริจาคแก่มูลนิธิผู้ป่วยมะเร็งของ รพ.สงขลานครินทร์ เพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนยากและผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง รวมทั้งจำหน่ายแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ขาดสารอาหารประเภทโปรตีนก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการรักษาใน รพ. ผู้ป่วยจะได้รับอาหารอยู่แล้ว แต่หลังจากออกจาก รพ. ครอบครัวผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีกำลังซื้ออาหารปั่นเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงต้องทำเองและอาจไม่ตรงตามหลักโภชนาการ ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน
"การผลิตอาหารปั่นเหลวนี้จึงจะช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ทั่วถึงในราคาย่อมเยา เพราะได้รับการคำนวณให้มีสารอาหารอย่างครบถ้วน กระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน เก็บรักษาในอุณหภูมิปกติไม่ต้องแช่ตู้เย็นได้นาน 1 ปี เพิ่มความสะดวกในการให้อาหารแก่ผู้ป่วยมากขึ้น ขณะนี้กำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000 แพ็ก/เดือน แต่เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้นจึงได้ลงทุนสร้างโรงงานซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300,000 แพ็ก/เดือน รองรับผู้บริโภคได้มากขึ้นในอนาคต" นายสุวิชาญกล่าว