กรมควบคุมโรคจัดรับฟังความเห็น ลุยแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อเสนอ ครม. หวังกฎหมายทันสถานการณ์โรคระบาดทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน หารือทวิภาคีมาเลเซีย ชง 4 เรื่องส้รางความร่วมมือ ป้องกันควบคุมโรคติดต่อชายแดน
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10-11 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2559 เป็นต้นมา เป็นกฎหมายหลักที่ต้องนำมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อของประเทศ จากการบังคับใช้ทำให้พบว่า มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้บังคับกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่มีความรุนแรง แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนเป็นอันตรายต่อชีวิตและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรง
กรมควบคุมโรค จำเป็นต้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ระงับ ควบคุม และขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาด ทั้งในกรณีปกติและในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อมีความทันสมัย สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ของโรค โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ ครม.และดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการควบคุมโรคติดต่อชายแดนไทย-มาลาเซีย ได้มีการหารือจัดประชุมแบบทวิภาคี “Workshop to identify the health threats and hazards for emergency preparedness and response coordination across the Thailand - Malaysia border” เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปปัญหาที่สำคัญด้านสุขภาพและภัยพิบัติต่างๆ เพื่อปรับปรุงการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เพื่อแจ้งเตือนการตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติเตรียมความพร้อมตอบโต้ ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ระหว่าง 4 คู่จังหวัด-รัฐ ได้แก่ จ.สงขลากับรัฐเคดาห์, จ.ยะลากับรัฐเปรัก, จ.สตูลกับรัฐเปอร์ลิซ และ จ.นราธิวาสกับรัฐกลันตัน แลกเปลี่ยนและประเมินความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ค้นหาช่องว่าง พัฒนาแนวทางติดต่อประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลโรคภัยสุขภาพ ผ่านกลไกรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งพบว่ามีความท้าทายของระเบียบข้อบังคับ แนวทางดำเนินการส่งข้อมูลมีความแตกต่างกัน สื่อสารด้วยภาษาที่แตกต่างกัน ล้วนส่งผลต่อการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูล
"แนวทางดำเนินงานในอนาคตร่วมกัน มุ่งเป้าทำแนวทางประสานงาน 4 ประเด็น คือ 1.กำหนดโรคและภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเเลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน 2.พัฒนาและปรับปรุงแนวทางติดต่อประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ 3.กำหนดผู้รับผิดชอบและประสานงานที่เกี่ยวข้องกับงานระหว่างประเทศ และ 4.พัฒนาเว็บไซต์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล เเละฝึกซ้อมแผนร่วมกันระหว่างประเทศ ผลสรุปทั้งหมดจะนำเสนอในการประชุมความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 33 ซึ่งสงขลาเป็นเจ้าภาพในปีนี้" นพ.อภิชาตกล่าว