ผอ.รพ.อุ้มผาง เผยได้รับจัดสรรงบจาก สธ.รวม 30 ล้านบาท หลังติดขัดสภาพคล่องติดลบ 40 ล้านบาท รับวิกฤตการเงินระดับ 7 วอนผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญสาธารณสุขชายแดน ไม่เฉพาะที่อุม้ผาง หวังเกิดความต่อเนื่อง ส่วนเกลี่ยคนรับทำได้ยาก เพราะทรัพยากรจำกัด ขนาดมีทุนเฉพาะทางทุกสาขายังไม่มีคนมาเอาทุน
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดปัญหาสภาพคล่อง งบติดลบ 40 ล้านบาท จากการดูแลชนกลุ่มน้อยที่ประสบปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือระยะยาว ว่า ต้องขอขอบคุณปลัด สธ. และสื่อมวลชนที่สนใจปัญหาชาวบ้านตามแนวชายแดน ซึ่งล่าสุดปลัด สธ.ได้จัดสรรงบให้ รพ.อุ้งผางจำนวน 20 ล้านบาท และเป็นงบเหลือจ่ายให้ รพ.ได้ชำระหนี้อีกรวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยในเรื่องงบประมาณได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสาธารณสุขชายแดน ไม่ใช่แค่ รพ.อุ้มผาง แต่ยังมีชายแดนอื่นๆ อีก อย่างเรื่องการปรับเกลี่ยหมุนเวียนแพทย์ปฏิบัติงาน มีการดำเนินการทั้งประเทศในรูปแบบเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital)
“อย่างของ รพ.อุ้มผาง ก็ดำเนินการตามนโยบายนี้ ผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการจัดสรรแพทย์ประจำบ้านของเขตสุขภาพที่ 2 ทำให้รู้ว่า การปรับเกลี่ยแพทย์ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตามต้องการทั้งหมด เนื่องจากจำนวนทั้งประเทศมีจำกัด ทรัพยากรมีแค่นี้ การปรับเกลี่ยในพื้นที่ก็จะได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งในส่วนรพ.อุ้มผาง ได้น้องหมอมาช่วยเพิ่ม 2 คน ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว” นพ.วรวิทย์ กล่าว
ถามกรณีการหมุนเวียนแพทย์จบใหม่ปรับเป็น 3-4 เดือน จาก 1-2 ปีจะช่วยได้หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า การหมุนเวียนแพทย์ต้องหารือกันในรูปแบบจังหวัดหรือเขตสุขภาพนั้นๆ สำหรับ รพ.อุ้มผาง ถือว่าได้มาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากต้องดูภาพรวม เพราะ สธ.ทำเต็มที่แล้ว ที่เหลือเป็นปัญหาด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีจริงๆ ทั้งระบบ อย่างที่ผ่านมา รพ.อุ้มผาง มีทุนแพทย์ประจำบ้าน มีทุกสาขา แต่กลับไม่มีน้องมาเอาทุน ซึ่งก็บังคับไม่ได้
ถามว่าปัญหาขาดสภาพคล่องของ รพ. ถือว่าวิกฤตระดับ 7 สีแดงหรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ใช่ หากพูดถึงสภาพคล่องจะมี 0- 7 เราก็ระดับ 7 เนื่องจาก รพ.อุ้มผาง จะมีคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารับบริการด้วย อย่างชาวบ้านซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงฝั่งประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีคนที่ข้ามชายแดนมา ทั้งหนี้ภัยสงคราม บาดเจ็บ คลอดบุตร มีหมด เพราะการแพทย์การสาธารณสุขฝั่งเมียนมาล้าหลังกว่าไทยไป 30-40 ปี และเขาสู้รบกันด้วย ซึ่งพวกเขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็ต้องข้ามมาเพื่อพึ่งพาประเทศไทย ดังนั้น เราก็ต้องช่วยตามหลักมนุษยธรรม
“หากพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว อยากนำเสนอผู้บริหารระดับสูงให้ท่านให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขชายแดนครอบคลุมทั้งประเทศ ที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านสาธารณสุขชายแดนมีการทำกัน แต่ผู้บริหารที่เคยทำเมื่อเกษียณไป ก็อาจไม่ต่อเนื่อง จึงขอผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องกำลังคนทำงานชายแดน งบประมาณ หรือตั้งกองทุนเฉพาะ” นพ.วรวิทย์ กล่าวและว่า การให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน จะไม่ใช่แค่การช่วย รพ.อุ้มผางเท่านั้น แต่จะช่วย รพ.ที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างๆ อีกจำนวนมาก จะช่วยได้ทั้งประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยดำเนินการมาก่อน แต่จะเป็นช่วงๆ ดังนั้น งานก็ไม่ต่อเนื่อง จึงขอความเมตตาให้ชาวบ้านชายขอบ เรื่องงานสาธารณสุขชายแดนด้วย ไม่ใช่แค่ไทยเมียนมา ยังมีไทยลาว ไทยกัมพูชา ซึ่งปัญหาก็จะแตกต่างกันไป