xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็กโก” เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จับมือ อพวช. ให้ความรู้ลดภาวะโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอ็กโก กรุ๊ป” เดินหน้าลดภาวะโลกร้อน ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10 เพิ่มพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ Net zero ภายในปี 2593 พร้อมจับมือ อพวช. ร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำลองโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ จัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านพลังงานแห่งอนาคต สร้างความตระหนักในด้านการใช้พลังงานสะอาด

นางสาวพินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาวะภูมิอากาศไปทั่วโลก ดังนั้น EGCO จึงได้เร่งปรับตัวไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบ รวมทั้งยังได้ศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และแสวงหาพลังงานสะอาดในรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานไฮโดรเจน

โดย EGCO ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ ร้อยละ 10 และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 จากนั้นจะมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583 และจะก้าวไปสู่ Net zero ภายในปี 2593

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญในการให้ความรู้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทุกคนล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงชุมชน และประเทศชาติ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การคัดแยกขยะ การลดใช้พลังงาน และการใช้พลังงานสะอาด โดยที่ผ่านมา EGCO ได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ให้กับเยาวชนและผู้สนใจมาร่วมท่องโลกพลังงานแห่งอนาคตไปกับโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ ซึ่งโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำขนอมแห่งนี้ เป็นเรือที่ต่อจากญี่ปุ่นจากนั้นก็ลากเข้ามาติดตั้งที่แผ่นดินขนอม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าขนอม

ทั้งนี้ จากการเดินหน้าให้ความรู้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง EGCO จึงได้รับเกียรติจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เชิญให้เข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-20 สิงหาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 11 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพลังงานและวิทยาศาสตร์สู่สังคมวงกว้างในระดับประเทศมากยิ่งขึ้น

โดย ในการจัดงานครั้งนี้ ทาง เอ็กโก กรุ๊ป และศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ได้ร่วมจัดบูธนิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Discovery Journey: Future Energy for Life ท่องโลกพลังงานแห่งอนาคตกับโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ” ซึ่งได้จำลองโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย มาจัดแสดงในงานฯ ซึ่งภายในนิทรรศการได้แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth แนะนำให้รู้จักกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงและสมดุลทางพลังงานในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ความสำคัญของไฟฟ้า นวัตกรรมพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

โซนที่ 2 Discover the Journey of Future Energy for Life ท่องโลกพลังงานผ่านโรงหนังในรูปแบบ Immersive Theater ที่เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และโซนที่ 3 Energy Transition for Better World รู้จักนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่โลกอนาคต ผ่านการทดลองผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน และทำความรู้จักพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ ใน “เมืองพลังงาน Renewable Lightbox”

ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลและชมการ Live บรรยากาศการจัดงานนี้ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Khanom Learning Center www.facebook.com/khanomlearningcenter

“ในมหกรรมวิทย์ฯ ครั้งนี้ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานกว่า 31 ปี เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านการผลิตไฟฟ้า พลังงาน และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นวัยต้นทางที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศในอนาคต” นางสาวพินทุ์สุดา กล่าว

ทั้งนี้ หลังจบงานมหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติแล้ว บูธนิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลกฯ” จะถูกนำไปจัดแสดงต่อเนื่องที่ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 4-13 กันยายน 2566 เพื่อเสิร์ฟความสนุกและส่งต่อแรงบันดาลใจด้านการผลิตไฟฟ้า นวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต และการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนสายวิทย์และเทคโนโลยี ในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป


















กำลังโหลดความคิดเห็น