สวรส.ร่วมทีมเอกชนและเภสัช มหิดล วิจัยแผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม ช่วยลดติดเชื้อ ใช้ AI ช่วยออกแบบรูปทรงให้เข้ากับรูปศีรษะแต่ละรายได้ ลดผ่าตัดซ้ำ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เห็นชอบชงเข้าบัตรทอง อยู่ระหว่างกำหนดราคา
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รักษาการ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรโลก ปี 2562 ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ถึง 12.2 ล้านคน เสียชีวิตราว 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ปี 2563 เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 34,545 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาการมีทั้งหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน และแบบปริแตกหรือฉีกขาด รักษาได้ด้วยการใช้ยาสลายลิ่มเลือด หรือผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เมื่ออาการดีขึ้นศัลยแพทย์จะปิดคืนกะโหลกให้กับผู้ป่วย โดยใช้กระดูกกะโหลกเดิมแล้ว นอกจากนี้ ยังมี Polymethylmethacrylate (PMMA) เป็นวัสดุพลาสติกที่ค่อนข้างใช้กันแพร่หลายทั้งไทยและต่างประเทศ บรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
"แต่มีข้อจำกัดเรื่องความแข็งแรงทนทาน รอยยุบและรอยต่อระหว่าง “กะโหลกจริง” และ “กะโหลกเทียม” ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย มีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยหลังผ่าตัด รวมถึงการไหลของของเหลวในสมองอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุล เสี่ยงติดเชื้อจากวัสดุ ปัจจุบันจึงมีการสร้างแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเทียมโดยใช้ไทเทเนียมหรือโลหะผสมไทเทเนียมอัลลอย เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย ผ่านการพิสูจน์และยอมรับว่า ไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย ลดการติดเชื้อระหว่างผ่าตัด ออกแบบรูปทรงให้เข้ากับสรีระโครงกะโหลกของผู้ป่วยแต่ละราย ข้อจำกัดคือ ต้นทุนการผลิตที่สูง และมีเพียงไม่กี่บริษัททั่วโลกที่ผลิตได้" ผศ.ดร.จรวยพรกล่าว
ผศ.ดร.จรวยพรกล่าวว่า สวรส.จึงร่วมกับทีมวิจัยจากบริษัท เมติคูลี่ จำกัด และคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “โครงการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับผู้ป่วยกะโหลกศีรษะยุบในการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบหลายสถาบัน” เพื่อทดสอบสมรรถนะของแผ่นปิดฯ ประเมินความปลอดภัย ต้นทุน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านงบประมาณและสังคม เป้าหมายคือช่วยลดการพึ่งพานวัตกรรมจากต่างประเทศ และผลักดันไปสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ
ด้าน รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. กล่าวว่า บริษัท เมติคูลี่ จำกัด เป็น 1 ใน 4 บริษัทจากทั่วโลกที่สามารถผลิตนวัตกรรมแบบนี้ขึ้นมาได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบโดยใช้แผ่นไทเทเนียมเกรดดีที่สุดที่ใช้สำหรับการแพทย์ มีข้อพิสูจน์แล้วว่าเป็นโลหะที่เข้ากับร่างกายของมนุษย์ได้ มีการพัฒนาการวิเคราะห์รูปทรงรอยเปิดกะโหลกศีรษะที่ต้องการปิด ผ่านระบบ CT-scan ร่วมกับการใช้ AI ออกแบบแผ่นปิดกะโหลกเทียมเฉพาะบุคคล การผลิตต่อครั้งทำได้รวดเร็วและแม่นยำตรงกับความต้องการของศัลยแพทย์ ขึ้นรูปทรงผ่านระบบการออกแบบ หลังจากได้รับผล CT-scan กะโหลกศีรษะของผู้ป่วยจากแพทย์ และส่งกลับไปยังห้องผ่าตัดได้ในระยะเวลา 2-7 วัน มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองมาตรฐานอุปกรณ์ด้านการแพทย์ระดับสากลจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
รศ.ดร.บุญรัตน์ กล่าวว่า จุดเด่นของนวัตกรรมงานวิจัย เช่น มีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าการรักษาแบบปกติ ลดการผ่าตัดซ้ำ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพราะต้นทุนการผ่าตัดโดยรวมลดลง แต่ได้ปีสุขภาวะเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แพทย์มีความพึงพอใจ ช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดให้สั้นลง และการใช้งานไม่ยุ่งยาก จึงขับเคลื่อนสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ จนคณะทํางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อกําหนดประเภทและขอบเขตบริการด้านสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพฯ เห็นชอบให้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดราคาเพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่เหมาะสม ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดเปิดกะโหลกสะสมถึงปีละ 7,000-20,000 คน การใช้ประโยชน์จากแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมเฉพาะบุคคล จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง