xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยเบาหวานอย่ามองข้าม "ปริทันต์อักเสบ" ชี้สัมพันธ์กัน ทำให้อาการรุนแรงขึ้นทั้งสองโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทันตแพทย์ชี้ "โรคเบาหวาน-ปริทันต์อักเสบ" สัมพันธ์กัน ชี้การอักเสบส่งผลให้ดื้ออินซูลิน คุมระดับน้ำตาลยากขึ้น เพิ่มเสี่ยงโรคแทรกซ้อน ส่วนน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ปริทันต์อักเสบรุนแรงขึ้น เพิ่มเสี่ยง 4.2 เท่า ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจช่องปากควบคู่

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเบาหวานกับโรคปริทันต์ อักเสบมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากปกติร่างกายจะมีฮอร์โมน “อินซูลิน” ทำหน้าที่จับน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานให้แก่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ส่วนโรคปริทันต์อักเสบสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งระบบ การอักเสบจะไปรบกวนกระบวนการควบคุมระดับน้ำตาล ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง จะมีผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลินในคนปกติ และหากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มของโรคเบาหวาน ก็จะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้มากขึ้นอีกด้วย
ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า โรคเหงือกกับโรคเบาหวานสัมพันธ์และมีผลต่อกัน เพราะในทางกลับกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยเบาหวาน ก็ส่งผลต่อสภาวะโรคปริทันต์อักเสบได้เช่นกัน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสามารถจับกับโปรตีนบางชนิดได้ถาวร ทำให้กระตุ้นการทำลายและยับยั้งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้โรคปริทันต์อักเสบมีความรุนแรงขึ้น โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบถึง 4.2 เท่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ความรุนแรงของโรคหนึ่งส่งผลให้อีกโรคหนึ่งรุนแรงตามไปด้วย ซึ่งควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปากควบคู่กัน และเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาเป็นอย่างดี เพราะสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล และเป็นประตูนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีด้วย

ทพญ.แพรวไพลิน สมพีร์วงศ์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญสาขาปริทันตวิทยา กล่าวว่า โรคปริทันต์อักเสบ หรือ โรครำมะนาด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ ผลิตสารทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกที่รองรับฟัน อีกทั้งแบคทีเรียเหล่านี้ยังก่อให้เกิดแผลในบริเวณพื้นผิวกว้างได้ถึง 5-20 ตารางเซนติเมตร ซึ่งเป็นช่องทางให้แบคทีเรียและสารอักเสบต่างๆ เข้าไปสู่กระแสเลือดได้ อาจเป็นสาเหตุการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย โดยการอักเสบเรื้อรังของโรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือก อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ในทางกลับกันโรคเบาหวานก็สามารถส่งผลกระทบถึงสุขภาพช่องปากได้ การรักษาควรทำควบคู่กัน เพราะผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบและได้รับการรักษาจะช่วยให้การใช้อินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในปริมาณที่ดี ความเสียงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบก็จะไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจสุขภาพช่องปากและติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หรือทุกๆ 3 เดือน จะส่งผลให้มีสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายที่ดีไปพร้อมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น