สธ.เผยบริการทันตกรรมคนไทยแค่ 10 ล้านครั้งต่อปี เฉลี่ย 8% จากที่ควรเข้าถึง 140 ล้านครั้ง ขณะที่บุคลากรไม่พอ จ่อปรับรูปแบบเข้าถึงบริการให้แยกส่วนงานทันตกรรม ตั้งเป็น รพ.ทันตกรรม ปี 66 ดำเนินการแล้ว 39 แห่ง ตั้งเป้าปี 67 ขยายครบทุกจังหวัด จากนั้นค่อยขยายลงสู่อำเภอ บริหารโดยสายงานทันตกรรมเอง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษ “รพ.ทันตกรรม ทางออกของการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากคนไทย” ภายในการประชุมพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยเคยหารือถึงงานบริการทันตกรรม ที่ให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 10 ล้านครั้งต่อปี ขณะที่บุคลากรยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่ม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ฯลฯ หากเพิ่มบุคลากรก็ต้องขยายการบริการมากขึ้น อย่างปี 2566 จะเพิ่มบริการประชาชนเป็น 12 ล้านครั้งต่อปีได้หรือไม่ ก็เห็นพ้องกันว่า ทำได้ ทั้งนี้ จากการทบทวนข้อมูลพบว่า ประชาชนต้องการเข้าถึงงานบริการสุขภาพช่องปากมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามปกติควรต้องพบหมอฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คนไทยมี 70 ล้านคน ก็จะอยู่ที่ 140 ล้านครั้ง ดังนั้น การบริการทันตกรรมที่ผ่านมา 10 ล้านครั้งต่อปีเท่ากับ 8% หาก สธ.มีนโยบายดูแลประชาชนทุกมิติ งานทันตกรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น
“เรื่องบุคลากร การผลิตทันตแพทย์ถือว่าน้อยมาก แต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าคน จาก 5 ปีก่อนอยู่ 5,000 กว่าคน แต่ละปีจะมีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นแค่ราว 200 คน อย่างจบทันตแพทยศาสตรบัณฑิตปีละ 800 คน อยู่ใน สธ.เพียง 1 ใน 4 ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ การจะให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 100 ล้านครั้งภายใน 10 ปี จะต้องปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ทั้งรูปแบบบริการ เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ เพราะหากทำเหมือนเดิมกว่าจะได้ตามเป้าหมายต้องใช้เวลา 50 ปี” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้น จึงเกิดโครงการ รพ.ทันตกรรมขึ้น มีตัวอย่างกรมการแพทย์ที่มีสถาบันทันตกรรมก็มีการบริหารจัดการได้ดี แต่ทำไมสำนักงานปลัด สธ. ถึงไม่มี รพ.ทันตกรรม ทั้งที่เรามีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การบริหาร การพัฒนาบุคลากร เดิมมีหน่วยบริการทันตกรรมทุก รพ.อยู่แล้ว จึงไม่น่ายากที่จะขับเคลื่อนให้เป็น รพ.ทันตกรรม อย่างปี 2566 มี รพ.ที่พร้อมและดำเนินการแล้ว 39 แห่ง และปี 2567 ตั้งเป้าให้มี รพ.ทันตกรรมทุกจังหวัดเป็นอย่างน้อย เมื่อทุกอย่างลงตัวก็ค่อยๆ ขยายไปยังอำเภอ และภายใน 10 ปีก็จะครอบคลุมมากขึ้น สำหรับงบประมาณก่อสร้าง รพ.ทันตกรรม ปัจจุบันงบ รพ.มาจากสำนักงบประมาณ สิทธิบัตรทอง เงินบำรุง และอื่นๆ เช่น การบริจาค และกิจกรรมต่างๆ โดยงบบัตรทองต้องมีการหารือกับ สปสช.ว่า จะมีการเพิ่มเติมอย่างไร ที่ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัว มิเช่นนั้นจะกลายเป็นงบเท่าเดิม แต่การบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งประกันสังคมด้วย ส่วนข้าราชการก็จะเป็นการเบิกจ่ายตามจริงอยู่แล้ว
"รพ.ทันตกรรมจะอยู่ในนโยบายหนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล (One Province One Hospital) โดยทางสสจ.จะสามารถจัดสรรเงินในจังหวัดให้กับ รพ.ทันตกรรมได้ไม่แตกต่างกับ รพ.อื่นๆ ในสังกัดเช่นกัน นอกจากนี้ รพ.ทันตกรรมยังมีข้อดีคือ วิชาชีพและสายงานที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมจะสามารถเข้ามาบริหารงานได้ เพื่อให้เป็น รพ.ทันตกรรมที่บริหารโดยสายงานทันตกรรม" นพ.โอภาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.ที่เข้าร่วมนโยบาย รพ.ทันตกรรม 39 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ , รพ.นครพิงค์ , รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก , รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ , รพ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ , รพ.พระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี , รพ.ศูนย์บริการการแพทย์ นนทบุรี , รพ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา , รพ.หนองแค จ.สระบุรี , รพ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี , รพ.นครปฐม , รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี , รพ.สมุทรสาคร , รพ.ประจวบคีรีขันธ์ , รพ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี , รพ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี , รพ.นภาลัย จ.สมุทรสงคราม , รพ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี , รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี , รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว , รพ.มหาสารคาม , รพ.ขอนแก่น , รพ.อุดรธานี , รพ.บึงกาฬ , รพ.ชัยภูมิ , รพ.มหาราชนครราชสีมา , รพ.บุรีรัมย์ , รพ.สุรินทร์ , รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี , รพ.ยโสธร , รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช , รพ.วชิระภูเก็ต , รพ.สงขลา , รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา , รพ.ยะลา , รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง , รพ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี , รพ.ธารโต จ.ยะลา และ รพ.พัทลุง