นักวิชาการชง 4 ด้าน ช่วยพัฒนาสิทธิ UCEP ป่วยวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ทั้งนโยบายให้ครบอคลุม รพ.รัฐ สพฉ.มีคำปรึกษาทางไกลประเมินอาการความรุนแรง ขอประชาชนใช้สายด่วน 1669 ช่วยรับคำปรึกษาก่อนระยะแรก สอดคล้องผู้บริโภคแนะมีเบอร์โทรกลางรับคำปรึกษา ขยายสิทธิเกณฑ์ประเมินครอบคลุมอาการสีเหลืองที่อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.ณัฐวุฒิ เอียงธนรัตน์ ตัวแทนคณะผู้วิจัยติดตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) กล่าวว่า ภาพรวม UCEP ถือว่ามาถูกทาง ทีมวิจัยมีข้อเสนอพัฒนาให้นโยบายดีขึ้น ดังนี้ 1.ระดับนโยบาย รัฐบาลควรขยาย UCEP ไปสู่ รพ.รัฐทั่วประเทศ เป็นหลักประกันว่าผู้ป่วยวิกฤตทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างทันการณ์ มีคุณภาพ ทั่วถึง โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน และแก้ไขระเบียบด้านการเงินให้ยืดหยุ่นมากขึ้น 2.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้พัฒนาบริการให้คำปรึกษาทางไกลแก่ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองหรือญาติอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อประเมินความรุนแรงเร่งด่วน และมีช่องทางเข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับความรุนแรงอย่างทันการณ์ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนว่าเมื่อเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน อาการลักษณะใดบ้างที่ควรโทรหาสายด่วน 1669 เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและเมื่อไปถึง รพ. จัดให้มีศูนย์สำรองเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ ครอบคลุมสถานพยาบาลทุกสิทธิทั่วประเทศ
3. กรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ (สบส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชน ควรทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่นโยบาย UCEP วางไว้มากขึ้น จัดให้มีกระบวนการทบทวนอัตราการจ่ายที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ รพ.ใช้เป็นข้ออ้างเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย และ 4.เชิงวิชาการ ควรพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดวิธีการจ่ายกรณีเข้ารับบริการ UCEP แก่ รพ.รัฐและเอกชน ปรับเกณฑ์การพิจารณาการพ้นภาวะวิกฤตให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกการเงินการคลังที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น ปรับอัตราการจ่ายชดเชยที่มีความจำเพาะต่อสถานพยาบาลแต่ละแห่งมากขึ้น ตามขีดความสามารถและต้นทุนการดำเนินงาน ควรปรับระยะเวลาการใช้สิทธิ UCEP ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น คำนึงถึงปัจจัยการดำเนินโรคและการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีความหลากหลายเกินกว่าจะใช้ตัวเลข 72 ชั่วโมงเพียงอย่างเดียว
"ส่วนของประชาชน อยากให้ใช้บริการสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น เพราะสายด่วน 1669 ยังมีบทบาทเป็น Buffer ในการสร้างความเข้าใจหรือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนว่าเข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่" นพ.ณัฐวุฒิกล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เสนอให้ สพฉ.ทบทวนเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน โดยพิจารณาขยายไปถึงกลุ่มสีเหลืองที่อาจเปลี่ยนเป็นสีแดงในภายหลัง รวมทั้งนำข้อคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติเข้ามาพิจารณาร่วมในเกณฑ์ประเมินด้วย จะทำให้การทะเลาะถกเถียงกันหน้างานลดลง รวมถึงเสนอว่าควรมีเบอร์โทรกลางให้ประชาชนโทรปรึกษาก่อนว่า อาการที่เจอควรไป รพ.หรือไม่ เพราะแม้ว่าการโทรเข้า 1669 จะได้รับคำปรึกษา แต่จากการวิจัยพบว่า ประชาชนส่วนมากไปรับบริการฉุกเฉินด้วยตัวเอง หรือถ้า 1669 จะทำหน้าที่นี้ ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้างมากขึ้น