xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ขีดเส้น 2 สัปดาห์ตรวจสอบเหตุป่วนข้อมูล รพ.ศรีสะเกษ หากพบคนผิดจริงให้สอบวินัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.ขีดเส้น 2 สัปดาห์ ตรวจสอบปมป่วนระบบข้อมูล "รพ.ศรีสะเกษ" กำชับผู้ตรวจฯ-ผอ.รพ.ให้ได้รายละเอียดเหตุการณ์และผู้เกี่ยวข้อง หากพบความผิดปกติแน่ชัดให้ตั้งกรรมการสอบทางวินัย ประสาน สกมช.ร่วมตรวจสอบอีกแรง ยันไม่มีข้อมูลรั่วไหล แต่ระบบข้อมูลล่าช้า เร่งเดินหน้าทำระบบ Big Data ฐานกลางดิจิทัลสุขภาพเชื่อมโยงทั้งประเทศ พร้อมกำกับมาตรฐานเดียว หลัง รพ.แต่ละแห่งใช้หลายโปรแกรม

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง รพ.ศรีสะเกษที่มีปัญหาระบบข้อมูลผู้ป่วยที่ล่าช้า จนกระทบการรับบริการ และตั้งคำถามอาจมีเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่วนข้อมูลเพื่อให้มีการซื้อโปรแกรมใหม่ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้ได้มีการมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 10 ลงไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว ขณะที่ ผอ.รพ.ศรีสะเกษก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้แจ้งทั้งผู้ตรวจฯ และ ผอ.รพ.ศรีสะเกษถึงกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างช้าสุดคือ 2 สัปดาห์ ให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และมีผู้ใดเกี่ยวข้อง ถ้ามีความผิดปกติและระบุได้แน่ชัดก็ให้ตั้งกรรมการสอบทางวินัย นอกจากนี้ ก็ได้ประสานให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ที่เรามีการทำ MOU ร่วมกัน ลงไปช่วยตรวจสอบอีกแรง ส่วนจะเป็นการแฮกข้อมูลหรือเกิดจากสาเหตุปัจจัยใดก็คงต้องรอให้ลงไปตรวจสอบรายละเอียดก่อน

"เบื้องต้นคือข้อมูลไม่ได้มีการรั่วไหล เพียงแต่อาการที่ทาง รพ.รายงานมาคือ ระบบมีอาการช้า แต่ช้าเพราะเหตุใดต้องไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง" นพ.โอภาสกล่าว

ถามว่าต่อไปจะมีการทำข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดเป็น Big Data กลางของ สธ. เพื่อลดปัญหาระบบข้อมูลของ รพ.แต่ละแห่งที่อาจใช้คนละระบบ นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องนี้ก็อยู่ในแผนเช่นกัน โดยเรื่องดิจิทัลสุขภาพนั้น สธ.กำลังออกมาตรฐานกลางและจะมีแอปพลิเคชันกลาง และมีโปรแกรมต่างๆ จะค่อยๆ ขยับไป เพราะเดิมเราทำระบบที่ค่อนข้างต่างคนต่างทำ ตอนเอามาเชื่อมกันก็คงต้องใช้เวลา แต่อยู่ในแผนที่จะดำเนินการ อนาคตไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถคีย์หรือเรียกข้อมูลได้หมด ซึ่งส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็คีย์ข้อมูลได้แล้วและเชื่อมกัน แต่อาจจะใช้คนละโปรแกรมก็อาจจะขลุกขลักเล็กน้อย และเวลาแต่ละโปรแกรมมีการอัปเดตต่างๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายและลิขสิทธิ์ แต่ละที่จะมีปัญหาไม่เหมือนกัน ภาพรวมตรงกลางก็คือทำให้เรื่องทุกอย่างเป็นมาตรฐานกันหมด โดยเรามีการตั้งกรอบดำเนินการเบื้องต้น แต่ต้องดูว่าจะทำได้มากน้อยตามกรอบหรือไม่ เพราะหน่วยบริการก็มีโปรแกรมกระจัดกระจายค่อนข้างเยอะ

"ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง เรามีระบบการดูแลข้อมูลไม่ให้รั่วไหลตามกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการทำให้เป้นมาตรฐานเดียวกันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เข้าใจว่าไม่น่าจะล่าช้า" นพ.โอภาสกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น