ปลัด สธ.เผยผลเฝ้าระวังมลพิษโกดังเก็บพลุระเบิด จ.นราธิวาส ในรัศมี 500 เมตร ไม่พบปัญหาคุณภาพอากาศ แต่คุณภาพน้ำยังไม่เหมาะอุปโภคบริโภค ให้ใช้แหล่งน้ำจากภายนอกก่อน ส่วนประเมินจิตใจผู้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 62 ราย ให้การดูแลทุกรายแล้ว
เมื่อวันที้ 1 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเป็นการเผาไหม้ของดินปืน อาจทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำได้ ล่าสุด นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นราธิวาส ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) ทั้ง 13 อำเภอใน จ.นราธิวาส ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ได้ลงพื้นที่ร่วมคัดกรองผลกระทบด้านสุขภาพ เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย รวมถึงตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำใช้ โดยเครื่องมือวัดภาคสนาม ณ จุดเกิดเหตุและรัศมี 500 เมตรโดยรอบ
"ผลการตรวจสอบพบว่า ไม่มีปัญหาด้านคุณภาพอากาศ ส่วนคุณภาพน้ำยังไม่เหมาะสมทั้งการอุปโภคและบริโภค จึงเสนอให้ใช้แหล่งนำจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ประปา อบต. และน้ำบาดาลโรงเรียนมูโนะ เป็นต้น" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ทีม MCATT จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวใน รพ.สุไหงโก-ลก 10 ราย เป็นผู้ใหญ่ 8 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 7 ราย และเด็ก 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย 2.ครอบครัวผู้เสียชีวิต 1 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ประเมินบุตรของผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย และ 3.ผู้ได้รับผลกระทบในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 5 จำนวน 241 ราย เป็นผู้ใหญ่ 209 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 43 ราย เด็ก 32 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 8 ราย รวมผู้มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตทั้งหมด 62 ราย
"ทุกรายทีม MCATT ได้ให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแล้ว สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ยังได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วย Crisis intervention หรือการช่วยให้วางแผนรับมือความเครียดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และในรายที่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต จะส่งต่อให้ทีม MCATT ในพื้นที่ประเมินตามมาตรฐานการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว