นายสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ เบโด้ (BEDO) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดน่านว่า สพภ. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับวิสาหกิจชุมชนด้านองค์ความรู้ต่างๆให้แก่ชุมชน โดยสำนักงานฯจะประเมินศักยภาพของชุมชนทั้งเรื่องของทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายของทรัพยากรขั้นพื้นฐานที่ต่างกัน การวางแผนพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่จึงไม่เหมือนกัน จังหวัดน่านเป็นหนึ่งจังหวัดที่ “เบโด้” ได้เข้ามาร่วมส่งเสริม 3 วิสาหกิจชุมชนด้วยกัน คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถี บ้านน้ำเกี๋ยน เน้นพัฒนาสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนปลอดสารเคมีและผลิตด้วยวัตถุดิบที่ได้จากชุมชนเป็นหลัก อีกหนึ่งแห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก เบโด้เข้ามาให้การส่งเสริมด้านการเก็บข้อมูล ที่เรียกอีกอย่างก็คือ “ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน” (Community BioBank) ทำให้สามารถคัดแยกและจำแนกความแตกต่างของมะไฟจีนได้ถูกต้อง เพื่อวิจัยมะไฟจีนและนำส่วนต่างๆไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดสร้างมูลค่าแก่ชุมชน และวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์พอเพียงร่วมใจสันติสุข กลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งเน้นการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารเคมี
“วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์พอเพียงร่วมใจสันติสุข” ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เดิมเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ยางพารา ที่ชาวบ้านปลูกเพื่อหวังผลทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศถูกทำลาย รวมถึงแหล่งอาหารและพันธุกรรมพืชท้องถิ่น เนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีปริมาณมาก การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเกษตรกรและคนในชุมชน ดังนั้นการจัดทำโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ชุมชนโป่งคำ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ “เบโด้” จึงเข้ามาให้การส่งเสริมด้านองค์ความรู้ในการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ โดยใช้หลักการธรรมชาติเข้ามาสู่กระบวนการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารกำจัดแมลง มุ่งเน้นใช้สิ่งที่มีในท้องถิ่นมาปรับใช้แทนสารเคมี ส่งเสริมการปลูกพืชที่เก็บเมล็ดพันธุ์และขยายพันธ์ เพื่อใช้ในฤดูกาลต่อไปได้ พืชที่ส่งเสริมเพาะปลูกส่วนมากจะเป็นพืชในท้องถิ่นและสามรถนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบน้ำ ผง หรือแบบขนมพร้อมรับประทานได้ เช่น ฟักทอง แตงกวาญี่ปุ่น ฟักแฟง มะนาว ตะไคร้ เสาวรส กล้วย และเพื่อการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และช่องทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้นและให้ได้มาตรฐานจึงต้องมีการพัฒนาโรงคัดแยกผลผลิตทางการเกษตรตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการทำให้เกิดการสร้างมูลค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้เบโด้ยังได้ทำโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพผลผลิตเกษตรอินทรีย์ชุมชนโป่งคำ โดยปี 2562 ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดตั้งโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแปรรูปทรัพยากรชีวภาพเชิงเกษตร วิจัยพัฒนาสินค้าและบริการ ร่วมกับชุมชนในปี 2563 และทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามหลักการ BEDO Concept : กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและไผ่สู่ตลาดสากล ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3 อย่าง ได้แก่ เก้าอี้ไม้ไผ่ 2 แบบ กระจกไม้ไผ่ 1 แบบ และถาดไม้ไผ่ 1 แบบ ในชุมชนโป่งคำ ยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบการเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้ผลผลิตอินทรีย์ที่มาจากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์ผงฟักทอง ผลิตภัณฑ์จากกล้วยตาก ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (ฟักทอง) ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (ฟักเขียว) ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (เสาวรส) เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สพภ. ให้การส่งเสริมชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน สร้างเศรษฐกิจ ควบคู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน