xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวทางดูแลรักษา "หญิงวัยทอง" ด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย ชู 3 กลุ่มยาสมุนไพรรสสุขุมหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแนวทางดูแลรักษาอาการ "สตรีวัยทอง" ชี้เกิดจากธาตุไฟน้อย ธาตุลมเพิ่ม เน้นสมุนไพรรสสุมขุมหอม ทั้งกลุ่มยาหอม บำรุงเลือด บรรเทาอาการทางเดินปัสสาวะ ชูนวด ประคบ และอบสมุนไพร ช่วยเพิ้มการไหลเวียนเลือดลม

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า อาการวัยทอง เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จากการเพิ่มขึ้นของอายุ มาจากรังไข่หยุดทำงานทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงผลิตน้อยลง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองมักจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่ายในเวลากลางคืน มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเข่า ผิวหนังแห้ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ขี้หลงขี้ลืม ปวดศีรษะบ่อย วิงเวียน เป็นลมง่าย เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่ค่อยสุด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย ความรู้สึกทางเพศเสื่อมถอยไปจนถึงไม่มีเลย รวมถึงนอนไม่หลับ จนส่งผลกระทบชีวิตประจำวัน

อาการที่พบในสตรีวัยทอง มักเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 โดยเฉพาะลมและไฟ (เลือดจะไปลมจะมา) เป็นภาวะที่ธาตุไฟ หรือความร้อนในร่างกายกำลังลดลง แต่ธาตุลมก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับอาการวิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปวดชาตามมือตามเท้า ผิวหนังแห้ง ช่องคลอดแห้ง วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น การรักษาจึงเน้นไปที่การปรับสมดุลของระบบเลือดลม ระบบประสาท บำรุงโลหิตและเลือดลมให้บริบูรณ์ ทั้งการใช้สมุนไพรและตำรับยาแผนไทย เน้นสมุนไพรที่มีรสสุขุมหอมเพื่อคุมธาตุลมไม่ให้กำเริบหรือมีมากเกินไป ได้แก่

1) กลุ่มยาหอม เช่น ยาหอมเทพจิตร บรรเทาวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย เพิ่มประสิทธิภาพนอนหลับ 2) กลุ่มยาบำรุงเลือด เช่น ยาลูกแปลกแม่ ตำรับยาแผนโบราณ ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด คือ กล้วยน้ำไท 1 หวี พริกไทย 1 กำมือ มะตูมนิ่ม 1 ผล บำรุงเลือดลมสตรี กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ และเป็นยาอายุวัฒนะ , กวาวเครือขาว บรรเทาอาการของสตรีวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบตามร่างกาย กระสับกระส่าย ช่องคลอดแห้ง ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากมีสารที่มีโครงสร้างทางเคมีและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูก และ มะเร็งเต้านม หรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ควรใช้ และ 3) กลุ่มยาบรรเทาอาการในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น อาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ได้แก่ ชากระเจี๊ยบแดง และชาตะไคร้

นอกจากนี้ ยังมีนวดและประคบสมุนไพรช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกผ่อนคลาย และอบไอน้ำสมุนไพรโดยมีข้อมูลศึกษาวิจัย พบว่ากลุ่มผู้ที่อบไอน้ำสมุนไพรจะมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีกว่า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้สดชื่นผ่อนคลาย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีผลดีกับระบบทางเดินหายใจ ส่วนการดูแลกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอรูปแบบช้า ๆ เช่น ฤาษีดัดตน มณีเวช โยคะ ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ ฝึกการควบคุมอารมณ์ สมาธิบำบัด งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกชนิด


กำลังโหลดความคิดเห็น