เป็นเด็กยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กก็ยากไม่น้อยไปกว่ากัน สสส. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงสานพลัง สนพ. Bookscape สร้างแพลตฟอร์ม “HOOK Learning” พร้อมออกสตาร์ท 3 หลักสูตร เรียนฟรี เน้นเป้าหมาย “เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาในโลกแห่งชีวิตจริง และโลกเสมือนจริงหรือโลกออนไลน์ ที่อาจนำไปสู่การมีปัญหาสุขภาวะทางจิตใจ
ที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่ใจดีจำนวนมากที่พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของน้อง ๆ เด็กและเยาวชน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยล่าสุด หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะของคนทุกวัย รวมทั้งเด็กและเยาวชน ได้สานพลังความร่วมมือกับสำนักพิมพ์ Bookscape สร้างแพลตฟอร์ม “HOOK Learning” ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในหลายมิติ ทั้ง “เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก”
โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยการนำความรู้จากงานวิจัยชั้นนำของโลกมาเผยแพร่สู่สังคมไทย เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ในการดูแลเด็กและเยาวชนในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมปัญหาวัยรุ่นกับโลกออนไลน์ ความรุนแรง สุขภาพจิต ความไม่เข้าใจระหว่างวัย ทั้งรูปแบบหนังสือ งานเสวนา การอบรมเสริมทักษะ เน้นกลุ่มคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นสร้างและสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาว่า จากการที่ สสส. ได้ทำงานร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงคุณครูบาอาจารย์เป็นจำนวนมาก โดยหัวข้อหนึ่งซึ่งมักจะได้ยินอยู่เสมอก็คือ ความรู้สึกว่าการเลี้ยงเด็กสมัยนี้มีความยาก เกิดคำถามว่าจะต้องเลี้ยงยังไง เนื่องจากโลกมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงและรวดเร็ว สสส.จึงมาคิดว่าจะเริ่มต้นทำอย่างไรให้เกิดตัวช่วย ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู รวมไปถึงบุคคลที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้มีความเข้าใจในตัวเด็กในยุคนี้มากยิ่งขึ้น และมีวิธีการอย่างไรที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่จะทำให้เด็กสามารถเติบโตไปอยู่ในโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโลกยุคใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย
“เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนไม่ได้เกิดขึ้นมาในยุคดิจิทัลแบบนี้ หรือที่เรียกว่ายุค Digital Age เด็กทุกวันนี้เกิดมาแล้วได้เห็นได้เจออุปกรณ์ทันสมัย มีเทคโนโลยีให้ได้ใช้เลย หากย้อนกลับไปในสมัยรุ่นของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เป็นเด็กในสมัยนั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีหรือดิจิทัลอะไรแบบนี้เลย แล้วยิ่งต่อไปในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เรื่อง Ai และอื่น ๆ ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอีก อีกทั้งตอนนี้จะเห็นได้ชัดว่าการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ #แฮชแท็ก กันในปัจจุบัน”
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความต่างระหว่างวัยแบบนี้ อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจเด็กและเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัยได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการต่อยอดความคิดว่าถ้ามีการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ถ้าคุณมีอุปกรณ์พร้อมอินเทอร์เน็ต คุณก็สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ทุกเวลา ในปัจจุบันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านไม่มีเวลาไปเข้าห้องเรียนเพิ่มเติม เพราะแค่เวลาทำงานก็หนักแล้ว บางคนในหนึ่งอาทิตย์ยังได้หยุดแค่วันเดียว แต่ว่ารูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ สสส.ทำให้ฟรี และจะเข้ามาศึกษาเวลาไหนก็ได้ สามารถดูย้อนหลังก็ได้
โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ “HOOK” นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่จำกัด ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญพัฒนารูปแบบการสื่อสารให้น่าสนใจ ได้สาระแต่ไม่น่าเบื่อ ตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 3 หลักสูตร ซึ่งเป็น 3 หลักสูตรที่ครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กวัยรุ่น
นายจิรภัทร เสถียรดี ผู้อำนวยการบริหารสำนักพิมพ์ Bookscape ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ให้ข้อมูลว่า แพลตฟอร์ม HOOK มีที่มาจากนกฮูก ซึ่งเป็นตัวแทนของปัญญา และมีความหมายแฝงที่แปลว่า “ตะขอ” ในการเกาะเกี่ยว เกี่ยวพันทุกคนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งสื่อถึงการปล่อยหมัดฮุค ที่สามารถใช้งานได้เร็ว ใช้งานได้จริง ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรแรก Bookscape และ สสส. ร่วมกันเลือกจากประเด็นใหญ่ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวในปัจจุบัน ที่ค้นหาตัวเองไม่เจอ ทำให้ไม่รู้จะเรียนอะไร จบแล้วจะไปทำงานอะไร จึงนำแนวคิดนักออกแบบ มาทำความรู้จักกับตัวเองก่อนไปออกแบบชีวิต รวมถึงเรื่องจิตวิทยา และโรคซึมเศร้า ที่เป็นสิ่งจำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ต้องบอกว่า แต่ละหลักสูตรมีความน่าสนใจและตอบโจทย์พ่อแม่ผู้ปกครองและน้อง ๆ เด็กและเยาวชนยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก โดยรายละเอียดของทั้ง 3 หลักสูตร มีดังต่อไปนี้
หลักสูตรที่ 1 : ออกแบบชีวิตด้วยแนวคิดนักออกแบบ (Design Thinking for Student Life) โดย เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท ลูกคิด จำกัด เป็นวิชาแนะแนวทางเลือกสำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ทำความเข้าใจตนเองและออกแบบเส้นทางการศึกษา อาชีพที่ลงตัวผ่านกระบวนการคิดแบบนักออกแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาคลาสสิคของเด็กไทยคือ “การค้นหาตัวเองไม่เจอ” นำไปสู่ปัญหาสุขภาวะและความเครียด
หลักสูตรที่ 2 : เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก (Child Psychology 101) โดย เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็ก ทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็ก เบื้องหลังพฤติกรรมและปัจจัยที่จะช่วยให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อเป็นแผนที่ให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจความซับซ้อนของเด็ก และยังเป็นกระจกสะท้อนการเติบโตของตนเองด้วย
หลักสูตรที่ 3 : โรคซึมเศร้าในเยาวชน ช่วยเหลือ รักษา ต้นกล้าแห่งความหวัง (Depression in Youth: Help Heal Hope) โดย ผศ.ดร. พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะชวนมาร่วมเข้าใจตั้งแต่สาเหตุ กระบวนการรักษา และแนวทางป้องกันโรคซึมเศร้าทั้งในตนเองและเยาวชนรอบตัว
ถามว่าทำไมต้องเป็น 3 หลักสูตรนี้? น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาและแรงบันดาลใจในการปั้นหลักสูตรเริ่มต้นทั้ง 3 ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สสส. มีการเก็บข้อมูลผ่าน “Thaihealth Watch” ที่เฝ้าจับตาสถานการณ์สุขภาพคนไทย โดยสิ่งที่เห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือเรื่องของปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และพบได้ในทุกวัย แต่พบมากกว่าในกลุ่มวัยรุ่น
“เรารู้สึกว่าจะต้องรีบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องไปดูและเก็บข้อมูลเพิ่มว่า น้อง ๆ กลุ่มนี้เขามีความกังวล ความเครียด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตนี้จากเรื่องอะไร และเราก็พบว่าเรื่องเรียนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด โดยน้อง ๆ มักจะมีความกังวลว่าจะเรียนด้านไหนดี นี่เป็นเรื่องของการค้นหาตนเอง เราจึงทำหลักสูตรการออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking เพื่อให้น้อง ๆ รู้สึกว่าเป็นวิชาแนะแนว ที่เขาสามารถเข้ามาทำและศึกษาด้วยตัวของเขาเอง และอีกเรื่องที่ใหญ่พอ ๆ กันนั่นก็คือเรื่องของภาวะซึมเศร้า เราจึงค้นคว้าหาข้อมูลกันเยอะมากจนนำมาสู่หลักสูตรโรคซึมเศร้าในเยาวชน ส่วนอีกหลักสูตรคือเรื่องของจิตวิทยาเด็กก็มีที่มาจากที่เราได้เจอพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูซึ่งมีความไม่มั่นใจในการเลี้ยงลูกหรือดูแลเด็กในยุคนี้ตามที่ได้กล่าวแล้ว”
สำหรับเรื่องผลลัพธ์และแนวความคิดที่จะต่อยอดจากแพลตฟอร์มนี้ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ระบุว่า ทุกวันนี้ สสส. มีการสนับสนุนโครงการทั้งที่เป็น Onsite เป็นจำนวนมากอยู่ โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับเด็กที่มีการจัดทำมากถึง 20 จังหวัด ทำแบบโฟกัสเจาะเป็นตำบล เป็นชุมชนมากกว่า 200 ชุมชน และโรงเรียนอีกหลายร้อยแห่ง เพราะฉะนั้น รูปแบบแพลตฟอร์ม Online ก็จะเข้ามาช่วยเสริมให้กับผู้ที่ทำงานปฏิบัติการในเรื่องของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศก็สามารถเข้ามาเรียนรู้จากแพลตฟอร์มได้ ก็จะทำให้มีความเข้าใจเบื้องต้น และสามารถออกแบบงานที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาเด็ก หรือการไปเสริมพลังให้กับครอบครัวของเขา สามารถดูแลเด็กในแต่ละวัยได้ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถทำให้หลักสูตรสามารถเดินหน้าได้พร้อมกันทั้งรูปแบบ Online และ Onsite
“สำหรับแพลตฟอร์ม HOOK Learning ตอนนี้ อยู่ในช่วงกำลังพูดคุยกันอยู่ว่าจะต่อยอดไปอย่างไรบ้าง เพราะต้องดูสถานการณ์ทางสังคมประกอบด้วยว่าจะมีเรื่องอะไรที่ไปกระตุ้นเสียงจากสังคม และส่งเสียงออกมาในเรื่องอะไร หรือต้องการความรู้เรื่องไหนบ้าง เช่นเรื่องทักษะการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน การสื่อสารเชิงบวก ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ และอีกหัวข้อหนึ่งคือก็เริ่มมีพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่ให้เลี้ยงดูเด็กด้วยไม้เรียว จะต้องทำอย่างไร” คือต้องบอกอย่างนี้ก่อนเลยว่าเรามีค่านิยมเรื่อง “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ทุกครั้งที่มีการสำรวจ ก็จะมีผู้เลี้ยงดูเด็กประมาณ 50% ที่ยังเชื่อเรื่องนี้อยู่ ส่วนหนึ่งก็บอกว่าถ้าไม่ให้ตี จะต้องใช้วิธีไหนในการอบรมสั่งสอนเด็ก เราก็เลยคิดว่าคอร์สเรื่องแนวจิตวิทยาเชิงบวก การใช้จิตวิทยาเชิงบวก วินัยเชิงบวก เหล่านี้ ก็อาจจะเป็นอีกคอร์สหนึ่งที่น่าสนใจ และนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวในตอนท้าย
ต้องบอกว่า นี่คืออีกหนึ่งความพยายามที่น่าชื่นชมของหน่วยงานที่เห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนที่ต้องผจญกับความท้าทายในชีวิตยุคใหม่หลากหลายรูปแบบ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ซึ่งเชื่อแน่ว่า แพลตฟอร์มนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลายคนต้องรักอย่างแน่นอน และสำหรับน้อง ๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ที่มีความสนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://hooklearning.com/ และติดตามข้อมูลข่าวสารอัปเดตได้ทาง Facebook: https://web.facebook.com/hooklearning/?_rdc=1&_rdr